รีวิวอื่นๆ

หลักพื้นฐานในการฝึกทักษะแม่ไม้มวยไทย

12 พฤษภาคม 2560 เวลา 12:16 ผู้เข้าชม: 3,462
0
0
0

หลักพื้นฐานในการฝึกทักษะแม่ไม้มวยไทย

ในการฝึกมวยไทยจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักพื้นฐานก่อน เพราะเป็นทักษะเบื้องต้นการเรียนแม่ไม้มวยไทยและกลมวย เพื่อนำไปสู่การมีทักษะในขั้นสูงต่อไป ซึ่งหลักพื้นฐานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ในศิลปะมวยไทย ดังนี้

การตั้งท่าจดมวย

การตั้งท่าจดมวย หมายถึง การวางเข่า การวางมือให้ถูกต้องตามหลักการฝึก ซึ่งในการจดมวยนั้น ต้องทราบเหลี่ยมมวยด้วย เหลี่ยมมวย หมายถึง การแสดงการใช้มือและเท้าที่ถนัด ออกมาให้เห็น โดยปกติมวยจะมี ๒ เหลี่ยม คือ เหลี่ยมซ้าย และเหลี่ยมขวา


เหลี่ยมซ้าย หมายถึง การยื่นหมัดขวาไปข้างหน้าสูงเหนือระดับหางคิ้ว ในขณะที่เท้าขวายื่นไปข้างหลัง หมัดซ้ายชิดคาง เท้าซ้ายอยู่ด้านหลัง ลำตัวเหยียดตรง ไม่เกร็งปล่อยตัวตามสบาย โดยให้น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย ระยะห่างของเท้าทั้งสองข้าง ๑ ช่วงตัว สายตามองผ่านมือไปยังคู่ต่อสู้ตลอดเวลา

เหลี่ยมขวา หมายถึง การยื่นหมัดซ้ายไปข้างหน้าสูงเหนือระดับหางคิ้ว ในขณะที่เท้าซ้ายยื่นไปข้างหลัง แขนซ้ายขนานกับลำตัว หมัดขวาชิดคาง เท้าขวาอยู่ด้านหลัง ลำตัวเหยียดตรง ไม่เกร็งปล่อยตัวตามสบาย ให้น้ำหนักอยู่ที่เท้าขวา สายตามองผ่านมือไปยังคู่ต่อสู้ตลอดเวลา

การวางตำแหน่งอวัยวะ

การวางตำแหน่งของอวัยวะที่ได้จดมวย หมายถึง การกำหมัด วางเท้า มือ และลำตัว

การกำหมัดที่ถูกต้อง คือ แบมือให้นิ้วมือทั้ง ๔ เรียงชิดติดกัน แล้วพับนิ้วทั้ง ๔ นิ้วเข้าหาอุ้งมือ แล้วกดทับด้วยนิ้วหัวแม่มือลงทาบ ในลักษณะเฉียงกับนิ้วชี้และนิ้วกลาง เพื่อให้หมัดที่กำกระชับแน่น โดยไม่เกร็ง   


การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก

๑) การใช้หมัด

หมัดตรง หมายถึง การใช้หมัดที่ถนัดมุ่งไปยังเป้าหมาย โดยอาศัยแรงจากหัวไหล่ ลำตัว และเท้ายันพื้น โดยน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าหน้า ใช้แรงส่งจากเท้าหลังและสะโพก หัวไหล่

หมัดตัด หมายถึง การใช้หมัดเหวี่ยงในลักษณะโค้งเป็นครึ่งวงกลม บริเวณลำตัว ใบหน้า หรือศีรษะของคู่ต่อสู้ ผู้รู้บางคนเรียกว่า "หมัดเหวี่ยง" แบ่งออกเป็น หมัดเหวี่ยงสั้น และหมัดเหวี่ยงยาว

     
  • หมัดเหวี่ยงสั้น หมายถึง การเหวี่ยงวงแคบ
  • หมัดเหวี่ยงยาว หมายถึง การเหวี่ยงวงกว้าง
  •  

หมัดตวัด หมายถึง การใช้สันหมัดกดลงบริเวณอวัยวะสำคัญของคู่ต่อสู้ ในลักษณะเหยียดแขนออกไป พร้อมชกตวัดวงแคบ

หมัดเสย หมายถึง การใช้หมัดชกเข้าหาคู่ต่อสู้โดยงอศอก เกร็งข้อศอกหงายหมัด แล้วพุ่งหมัดยกขึ้นสู่เป้าหมาย ได้แก่ ปลายคาง ดั้งจมูก หรือใบหน้าคู่ต่อสู้

๒) การใช้เท้า

การใช้เท้าจะแบ่งออกเป็น ๒ ไม้ คือ การเตะ และการถีบ


การเตะ 

หมายถึง การใช้อวัยวะส่วนขาตั้งแต่เอวลงไปจนถึงปลายเท้า

     
  • เตะตรง หมายถึง การเตะเสยจากพื้นขึ้นไปส่วนบนในลักษณะตั้งฉากกับพื้น
  • เตะตัด หมายถึง การเตะที่ใช้เท้าวาดขึ้นขนานกับพื้น สามารถเตะตัดได้ทั้งส่วนล่างของลำตัว และส่วนบนของอวัยวะ
  • เตะตวัด หรือเตะเฉียง หมายถึง การเตะที่ทิศของการเตะจะเฉียงลงพื้นสู่เป้าหมาย
  • กลับหลังเตะ หมายถึง การหมุนตัวหันหลังให้คู่ต่อสู้ แล้วเหวี่ยงขาที่วางอยู่ด้านหลัง ให้ส้นเท้าปะทะเป้าหมาย
  •  

 การถีบ 

หมายถึง การใช้ปลายเท้า ฝ่าเท้า หรือส้นเท้าปะทะคู่ต่อสู้ ปลายเท้าปะทะคู่ต่อสู้


การถีบตรง หมายถึง การถีบออกไปตรงๆ ให้ปลายเท้า ส้นเท้า หรือฝ่าเท้าปะทะเป้าหมายในส่วนต่างๆ ของคู่ต่อสู้ โดยอาจเหยียดเท้าตรง หรืองอเท้าเข้าถีบก็ได้

  • การถีบข้าง หมายถึง การใช้ปลายเท้าถีบออกไปด้านข้างของลำตัว โดยเอียงศีรษะออกไปห่างจากลำตัว
  • การกลับหลังถีบ หมายถึง การถีบตรงออกไปด้านหลัง อาจเหยียดขาตรง หรืองอขาแล้วเหยียดตรงออกไปยังเป้าหมาย
  • การกระโดดถีบ หมายถึง การสืบเท้าที่ไม่ถนัดออกไป ๑ จังหวะ แล้วลอยตัวใช้เท้าที่ถนัดพุ่งไปยังเป้าหมายของคู่ต่อสู้
  • การถีบจิก หมายถึง การใช้ปลายเท้าที่ถนัดจิกไปบริเวณหน้าท้อง หรือลิ้นปี่ของคู่ต่อสู้ โดยอาศัยแรงส่งจากเท้าที่ไม่ถนัด
  •  


๓) การใช้เข่า

หมายถึง การใช้อวัยวะส่วนที่เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกขาส่วนบนกับกระดูกขาส่วนล่าง  แล้วงอพับขา กระทุ้งไปยังเป้าหมายของคู่ต่อสู้

     
  • เข่าตรง หมายถึง เข่าพุ่งตรงไปข้างหน้าเข้าสู่เป้าหมาย
  • เข่าเฉียง หมายถึง เข่าตีเฉียงเข้าสู่เป้าหมายด้านตรงกับเข่าที่พุ่งออกไป
  • เข่าโค้ง หมายถึง การบิดสะโพกให้คว่ำลง พร้อมกับเหวี่ยงขาให้มีรัศมีโค้งจากบนลงล่าง ปะทะเป้าหมาย ให้ปลายเท้าเหยียดเป็นเส้นตรงกับขาและเข่า
  • เข่าโยน หมายถึง การกระโดดโยนเข่าขึ้นไปตรงๆ คล้ายๆ เข่าลอย เป้าหมายที่ปลายคาง และหน้าอกของคู่ต่อสู้
  • เข่าลอย หมายถึง การกระโดดขึ้นสูง ทะยานกับเข่าโยน แต่เข่าลอยสู่พื้นสูงกว่า
  •  

๔) การใช้ศอก

การใช้ศอกขั้นพื้นฐานมีลักษณะดังนี้

     
  • ศอกตี บางคนเรียกว่า ศอกสับ โดยใช้วิธีการตีศอกจากบนสู่ล่าง เฉียงซ้ายคล้ายมุมฉาก บางครั้งอาจบิดตัวตี โดยมีแรงส่งจากไหล่ ลำตัว และเท้า
  • ศอกตัด หมายถึง การตีศอกตัดขนานไปสู่เป้าหมาย
  • ศอกงัด หมายถึง การตีศอกจากกลาง งัดขึ้นไปข้างบน ตรงเป็นมุมฉาก
  • ศอกกระทุ้ง หมายถึง การใช้ศอกพุ่งออกไปด้านหลัง ในลักษณะกระทุ้ง แก้ไขสถานการณ์ที่คู่ต่อสู้ประชิดเข้ามาด้านหลัง
  • ศอกกลับ หมายถึง การหมุนตัวตีศอก กลับไปทางด้านหลัง ตามจังหวะที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนตามเท้า
  •  
ผู้สนับสนุน

- ศิลปะการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก  

เป็นทักษะพื้นฐานของกีฬามวยไทยที่มีอยู่มากมายหลายแบบ ซึ่งครูมวยต่างๆ ได้คิดค้นขึ้นมาใช้ และได้นำมาเขียน หรือบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ ในการเรียนการสอนวิชามวยไทยในปัจจุบัน  

     
  • ศิลปะการใช้หมัด เช่น หมัดตรง หมัดตัด หมัดตวัด หมัดเสย
  • ศิลปะการใช้เท้า แบ่งออกเป็น การเตะ และการถีบ สำหรับการเตะนั้น  เช่น เตะตรง เตะเฉียง เตะตวัด เตะกลับหลัง ส่วนการถีบ เช่น ถีบตรง ถีบข้าง ถีบกลับหลัง
  • ศิลปะการใช้เข่า เช่น เข่าตรง เข่าเฉียง เข่าตัด เข่าโค้ง เข่าลอย   
  • ศิลปะการใช้ศอก เช่น ศอกตี ศอกตัด ศอกงัด ศอกพุ่ง ศอกกระทุ้ง ศอกกลับ 
  •  

การนำเอาศิลปะแม่ไม้มวยไทยเหล่านี้ไปใช้ให้ได้ผลดีย่อมขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ความชำนาญ และความมีไหวพริบ ในการผสมผสานไม้มวยต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


การเคลื่อนที่

การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนไหว เป็นพื้นฐานของการใช้แม่ไม้มวยไทย ทั้งการรุกและการรับ โดยการเคลื่อนที่ในการฝึกมวยมีดังนี้


๑) การรุกและถอยเป็นเส้นตรง   

ก. การรุกหรือถอย แบบเดินหน้าหรือถอยหลังโดยการลากเท้า  

คือ ถ้ารุกไปข้างหน้า ก็เดินหน้าและให้เท้าหลังลากตามเป็นจังหวะ โดยอาจยกเท้าหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่เวลาถอย ก็ใช้แรงส่งจากเท้าหน้า ให้เท้าหลังก้าวออกไป แล้วเท้าหน้าก้าวตามเป็นจังหวะ โดยอาจยกเท้าหรือไม่ก็ได้


ข. การรุกหรือถอย แบบสลับมือเท้า  

หมายถึง การรุกที่มีการสลับมือและเท้าตามข้อ ๑) และถอยสลับมือและเท้าตามข้อ ๑) เมื่อฝึกได้อย่างมีทักษะแล้ว ใช้เดินรุกสลับเท้าและถอยสลับเท้าให้คล่องแคล่ว จะช่วยให้นำไปใช้ในการฝึกทักษะขั้นสูงต่อไป


การรุกและถอยเป็นเส้นตรง

๒) การรุกและถอยฉาก

 ก. การรุกเป็นมุมฉาก

หมายถึง การเพิ่มจากการรุกธรรมดาโดยใช้เท้าที่ไม่ถนัดตั้งนำ เท้าที่ไม่ถนัดไปข้าง เท้าที่ถนัดส่งตาม ต่อจากนั้นใช้เท้าที่ไม่ถนัด ลากออกไปด้านข้าง ส่งเท้าที่ถนัดตามไปอยู่ด้านหน้าเท้าที่ไม่ถนัด ลักษณะการเคลื่อนที่เป็นลักษณะอยู่ในมุมฉาก ดังนี้


๑. การรุกฉากขวาแบบธรรมดาจากการตั้งท่าขวานำ

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  รุกไปด้านหน้าในท่าธรรมดา

จังหวะที่ ๒  ก้าวเท้าขวาฉากไปทางขวาเล็กน้อย

จังหวะที่ ๓  ก้าวเท้าซ้ายฉากไปทางขวาโดยให้เท้าซ้ายไปอยู่ข้างหน้าเท้าขวา


๒. การรุกฉากซ้ายแบบรุกเท้าสลับจากการตั้งท่าขวานำ

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  รุกไปด้านหน้าแบบรุกธรรมดา

จังหวะที่ ๒  ก้าวเท้าซ้ายฉากไปทางซ้ายเล็กน้อย

จังหวะที่ ๓  ชักเท้าขวาฉากตาม ให้อยู่ด้านหน้าเท้าซ้าย


 ข. การถอยฉาก  

หมายถึง การถอยเพื่อต้องการให้ตำแหน่งของการตั้งท่าเปลี่ยนทิศทางไม่ให้เป็นเป้าหมายของคู่ต่อสู้ในขณะรุก  สามารถถอยฉากได้ดังนี้


๑.  ฉากขวาจากการตั้งท่ามือซ้าย เท้าซ้ายอยู่หน้า

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  ถอยไปด้านหลังโดยการถอยแบบเท้านำเท้าตาม

จังหวะที่ ๒  ก้าวเท้าขวาฉากไปทางด้านขวา

จังหวะที่ ๓  ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปทางขวาให้

ไปอยู่หน้าเท้าขวา


๒. ฉากขวา (ไม่ต้องถอย) จากการตั้งท่ามือซ้ายอยู่หน้า

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  ก้าวเท้าขวาฉากไปทางขวาเพียงเล็กน้อย

จังหวะที่ ๒  ชักเท้าซ้ายเฉียงไปทางขวา  ให้มาอยู่หน้าเท้าขวา  การตั้งท่าเท้าซ้ายนำ


๓. ฉากซ้ายจากการตั้งท่ามือซ้าย เท้าซ้ายอยู่หน้า

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  ถอยไปข้างหลังแบบเท้านำเท้าตาม

จังหวะที่ ๒  ก้าวเท้าซ้ายฉากไปทางด้านซ้าย

จังหวะที่ ๓  ชักเท้าขวาถอยหลังให้ไปอยู่หลังเท้าซ้ายในลักษณะการตั้งท่าซ้ายนำอยู่หน้า


๔. ฉากซ้าย (ไม่ต้องถอย) จากการตั้งท่ามือซ้าย เท้าซ้ายอยู่หน้า

วิธีฝึก

จังหวะที่ ๑  ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปทางซ้ายเล็กน้อย

จังหวะที่ ๒  ชักเท้าขวาไปข้างหลังเท้าซ้ายให้มาอยู่ในลักษณะการตั้งท่าแบบซ้ายนำ


การรุกและถอยฉาก

๓) การเคลื่อนที่เป็นวงกลม

การเคลื่อนที่เป็นวงกลม คือ การเคลื่อนที่โดยใช้การรุกและการถอยแบบการเคลื่อนที่ของแบบเท้าธรรมดา ในลักษณะเท้านำเท้าตาม ที่เคลื่อนที่ไปด้านหน้า ด้านหลัง ไปทางซ้าย หรือไปทางขวา


 ก. การเคลื่อนที่ตามแนวรอบวงกลม

การเคลื่อนที่แบบนี้ให้เคลื่อนที่ตามคู่ต่อสู้ไปเป็นวงกลม ถ้าจะรุกหรือถอยให้ใช้แบบการรุกและถอยแบบธรรมดา คือ ใช้แบบเท้านำเท้าตาม หรือจะใช้การรุกแบบเท้าสลับก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับโอกาสของการเคลื่อนที่


 ข. การเคลื่อนที่ไปทางซ้าย หรือทางขวา  

การเคลื่อนที่แบบนี้เป็นการเคลื่อนที่โดยมีคู่ต่อสู้เป็นแกนกลาง มี ๒ จังหวะ คือ


จังหวะที่ ๑ การเคลื่อนที่แบบนี้เป็นการเคลื่อนที่ไปทางด้านขวา การเคลื่อนที่จะต้องเอาเท้าหลังไปก่อน

จังหวะที่ ๒ ก้าวเท้าหน้าตามเท้าหลัง หากเคลื่อนที่ไปทางด้านซ้ายจะต้องใช้เท้าหน้านำไปก่อน แล้วเอาเท้าหลังเคลื่อนตามไป


การเคลื่อนที่ตามแนวรอบวงกลม

การก้าวย่าง

การก้าวย่าง หมายถึง การเดินหรือลากเท้านั่นเอง ใช้ในโอกาสทั้งรุกและถอย ลักษณะการก้าวย่างในมวยไทยนั้น คือ การยกเข่าขึ้นสูงพร้อมทั้งยกแขนขึ้นเป็นแนว การยกเข่าขึ้นให้ติดกับศอกหรือเกือบติดกับศอก เข่าที่ยกนั้น อาจยกก่อนแล้วลากเท้า การเคลื่อนที่ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า "การก้าวย่าง" บางครั้งอาจลากเท้าไปข้างหน้าก่อนยกเข่าขึ้น


ในบางโอกาสอาจถอยแล้วยกเข่าเกือบติดศอกก็ได้ การที่ยกเข่าขึ้นติดศอกเป็นการป้องกันคู่ต่อสู้ บางครั้งอาจทำสลับกันได้ ทั้งด้านซ้ายนำและขวานำ


๑)  การย่างสามขุม

การย่างสามขุม คือ การเดินจุด ๓ จุด โดยการเปลี่ยนตำแหน่งของเท้า


การเดินให้กำหนดจุดที่ใช้ในการเปลี่ยนตำแหน่งของเท้า เช่น เท้าซ้ายอยู่ข้างหน้า ให้เปลี่ยนไปเป็นอยู่ข้างหลัง กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนเหลี่ยมของร่างกายนั่นเอง


การย่างสามขุมให้ชำนาญนั้นจะต้องฝึกการย่ำ การก้าวย่าง และการย่างสามขุม ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวอาจป้องกัน หลบหลีก บางครั้งใช้ในการรับหรือการรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ


๒)  การย่างสุขเกษม

การย่างสุขเกษม คือ การก้าวย่าง หรือการเคลื่อนที่ โดยการก้าวเท้าออกไปด้านนอกตัว พร้อมกับการยกตัวใช้มือปัดลงมาข้างล่าง ในขณะที่อีกมือหนึ่งยกขึ้นระดับใบหน้า เพื่อป้องกันอาวุธ ส่วนที่ปัดลงมา ใช้ในกรณีที่คู่ต่อสู้ถีบมาหาเรา ให้ใช้มือปัดป้องกัน ส่วนมือที่อยู่ข้างบน ก็ใช้ป้องกันอาวุธได้ ทั้งนี้ ในการกระทำนั้นจะต้องบิดสะโพกตามไปด้วย พร้อมกับปัดมือล่างให้ผ่านลำตัว ส่วนเท้าเคลื่อนที่ก้าวไปพร้อมกับการปัดมือผ่านลำตัว

ศิลปะการรุกและรับ

ศิลปะการรุกและรับ หมายถึง การเลือกใช้ไม้มวยไทยและกลวิธีต่างๆ ให้ผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม้มวยไทยที่ใช้ในการชกมวยไทย ได้แก่ หมัด เท้า เข่า และศอก การใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า "ไม้หมัด" การใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า "ไม้เตะ" การใช้เท้าถีบเรียกว่า "ไม้ถีบ" การใช้เข่าเรียกว่า "ไม้เข่า" การใช้ศอกเรียกว่า "ไม้ศอก" และยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น-ยาวของการใช้ไม้มวยไทย โดยแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ไม้สั้น และไม้ยาว เช่น การใช้หมัดเหวี่ยงสั้น หมัดงัด ศอกและเข่า เรียกว่า "ไม้สั้น" การใช้เท้าเตะ ใช้เท้าถีบ หมัดเหวี่ยงยาว เรียกว่า "ไม้ยาว"


ดังนั้นการเตะ ถีบ เข่า และศอก เรียกว่า "แม่ไม้" ส่วนการต่อย หมัดงัด หมัดเหวี่ยงสั้น-ยาว การเตะตรง เตะตัด เตะตวัด เตะเฉียง เตะกลับหลัง ถีบตรง ถีบข้าง ถีบกลับหลัง เข่าตรง เข่าเฉียง เข่าตัด เข่าลอย ศอกตี ศอกตัด ศอกกลับหลัง ศอกพุ่ง เหล่านี้เรียกว่า "ลูกไม้"

๑) ศิลปะการรุก

ไม้รุก หมายถึง หลักวิชาการในการใช้ไม้มวยต่างๆ มาประกอบกันเพื่อเป็นการรุกโจมตีคู่ต่อสู้ มีทั้งการหลอกล่อ และเข้าสู้กันจริง โดยทั่วไปไม้นำของไม้รุกจะเป็นไม้ยาว มีความเร็ว รัดกุม มีหลักมั่นคง สามารถใช้ไม้อื่นต่อไปได้ เช่น การถีบตรง การเตะเฉียง เตะลิด ส่วนไม้ตามนั้นจะเป็นไม้ยาวหรือไม้สั้นก็ได้


ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้จังหวะแรกว่าได้ผลดีประการใด ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้มวยแบบสลับบนล่าง หรือซ้ายสลับขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้พะวง ถ้าใช้ไม้รุกเฉพาะส่วน หรือส่วนล่างอย่างเดียวจะง่ายต่อการป้องกันแก้ไข


โดยทั่วไปไม้รุกมีตั้งแต่จังหวะเดียวขึ้นไปจนไม่จำกัดจำนวน แต่นิยมใช้และได้ผลดี รวมไปถึงการฝึกหัดได้ง่าย คือ ไม้รุก ๑ จังหวะ ๒จังหวะ และ ๓ จังหวะ


 ๑. ไม้รุก ๑ จังหวะ  

หมายถึง การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยเพียงอย่างเดียว เช่น การชกหมัดตรงขวา เตะขวา โยนเข่าขวาหรือด้านที่ถนัดที่สุด เรียกว่า "ไม้รุกจังหวะเดียว"


 ๒. ไม้รุก ๒ จังหวะ  

หมายถึง การรุกเข้าไปใช้ไม้มวย ๒ จังหวะ โดยในจังหวะที่ ๑ เป็นไม้หลอก เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก แล้วตามไปใช้ไม้จริงในจังหวะที่ ๒ ต้องตามกันไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ไม้รุก ๒ จังหวะ"


 ๓. ไม้รุก ๓ จังหวะ 

หมายถึง การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ ๑, ๒ และ ๓ ติดต่อกัน เช่น ต่อยหมัดนำ หมัดตรง แล้วเตะตาม ถ้าฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถใช้ไม้สั้น เช่น ศอก เข่า หมัดตวัด หมัดงัด เป็นไม้นำได้เช่นกัน


 ๔. ไม้รุก ๔ จังหวะ  

หมายถึง การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ ๑, ๒ และ ๓ ติดต่อกัน และไม้รุกที่ออกไปต่างก็หวังผลทั้งหมด แล้วแต่โอกาส ส่วนมากจังหวะที่ ๑ และ ๒ เป็นไม้หลอก จังหวะที่ ๓  และ ๔ เป็นไม้จริง


๒) ศิลปะการรับ

ไม้รับ หมายถึง หลักวิชาการในการนำเอาไม้มวยต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขการจู่โจมของฝ่ายรุก ไม้มวยชนิดหนึ่ง อาจแก้การจู่โจมของไม้มวยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ได้ หรือแก้ทีละไม้ เช่น แก้การต่อย แก้การเตะ แก้การถีบ แก้การศอก แต่ในการชกมวยจริงๆ ไม่ได้ชกหรือเตะเพียงจังหวะเดียว แต่จะรุกเป็นชุด เช่น ต่อยนำ เตะตาม แล้วเข่าตาม หรือต่อยตามเข่า


ความหมายรวมไปถึงการทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขการจู่โจม เช่น การถอยออกให้พ้นระยะ เพื่อไม่ให้ถูกอาวุธของคู่ต่อสู้ การหลบหลีก การปัดป้อง และการตอบโต้ ซึ่งมีการชิงลงมือก่อน การถอยแล้วตอบโต้ การหลบหลีกแล้วตอบโต้


ไม้รับในที่นี้จะกล่าวถึงการรับไม้มวยของคู่ต่อสู้ทีละชนิดตามลำดับ เริ่มตั้งแต่รับการต่อย รับการเตะ รับการถีบ รับการเข่า และรับการศอก โดยอาศัยการถอย หลบหลีก ปัดป้อง และตอบโต้ด้วยไม้มวยต่างๆ ดังต่อไปนี้


 ๑. การหลอกล่อ  

หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้คู่ต่อสู้เข้าใจผิด หรือเพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้จับทางเราได้ แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ โดยไม่เคลื่อนที่ไปจากที่เดิม คือ

  • หลอกด้วยสายตา คือ มองสูงแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่ต่ำ หรือมองต่ำแต่ใช้ไม้มวยไปสู่เป้าหมายที่สูง
  • หลอกด้วยศีรษะ คือ การเคลื่อนไหวศีรษะไปมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้หลงทาง
  • หลอกล่อด้วยการเคลื่อนไหวลำตัว คือ การอาศัยความอ่อนตัว เช่น การโยกเอวหรือโยกลำตัวไปทางซ้ายและขวา

 

 ๒. การถอยให้พ้นระยะ  

หมายถึง การถอยให้ห่างจากคู่ต่อสู้ อาจกระโดดเคลื่อนเท้าถอยหลัง หรือก้าวถอยหลัง แต่ต้องให้พ้นระยะไม้มวยของคู่ต่อสู้ ในการถอยเมื่อพ้นระยะแล้ว จะต้องอยู่ในท่าที่พร้อมจะตอบโต้คู่ต่อสู้ทันที                            


 ๓. การโยกตัวหรือการเอนตัวให้พ้นระยะ  

หมายถึง การโยกตัวหรือเอนตัวออกให้พ้นระยะคู่ต่อสู้


 ๔. การหลบหลีก  

หมายถึง การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อหลบหลีกไม้มวยของคู่ต่อสู้ที่จู่โจมมา อาจใช้วิธีก้มตัวหลบด้านซ้ายและขวา                    

 ๕. การปัดให้เบี่ยงเบนออกไป

หมายถึง การใช้มือหรือแขนปัดไม้มวยไปยังเป้าหมายอื่น


 ๖. การปัดป้อง  

หมายถึง การใช้ส่วนต่างๆ ที่แข็งแรงของร่างกายปัดป้องอวัยวะที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย เช่น การใช้เข่าปัดป้องท้อง รวมถึงบริเวณลำตัว การใช้ศอกและเข่าบริเวณหน้าอก


 ๗. การบังเกาะจับ

หมายถึง การบังไม่ให้ไม้มวยคู่ต่อสู้ปะทะกับตัวเรา การบังนั้นจะต้องอาศัยการผ่อนแรงถูกจังหวะและเหมาะสมจึงจะได้ผลดี เมื่อบังเกาะจับได้แล้ว ก็สามารถใช้ไม้มวยตอบโต้ได้ทันที


 ๘. การทำให้ล้ม

ในมวยไทยมีหลายแบบ แต่ที่ถูกต้องตามกติกาคือ ใช้วิธีการบังเกาะจับแล้วผลักให้ล้ม หรือการกอดรัดแล้วเหวี่ยงให้ล้ม


ศิลปะการตอบโต้

ศิลปะการตอบโต้ หมายถึง การใช้ไม้มวยตอบโต้คู่ต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่


๑) ถอยแล้วตอบโต้  

หมายถึง การถอยให้พ้นระยะไม้มวยที่จู่โจมมา แล้วจึงใช้ไม้มวยตอบโต้คู่ต่อสู้ทันที


๒) การหลบหลีกแล้วตอบโต้  

หมายถึง การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อหลบหลีกให้พ้นระยะไม้มวยของคู่ต่อสู้ เช่น การก้มตัว การเอนตัว การย่อขา การเคลื่อนไหว


๓) การชิงทำแล้วตอบโต้  

หมายถึง การใช้ไม้มวยตอบโต้คู่ต่อสู้ที่ใช้ไม้รุกมายังเรา โดยให้ไม้มวยของเราออกไปให้ถึงเป้าหมายก่อน


๔) การปิดป้องแล้วตอบโต้  

หมายถึง การใช้ส่วนต่างๆ ที่แข็งแรงของร่างกายปิดป้องเป้าหมายที่คู่ต่อสู้จะจู่โจม ซึ่งส่วนมากเป็นบริเวณจุดอ่อนของร่างกาย เช่น ปลายคาง ใบหน้า คอ หน้าอก ลำตัว ลิ้นปี่ ท้อง ขาพับ

๕) การปัดให้เบี่ยงเบนออกไปจากไม้มวยของคู่ต่อสู้

หมายถึง การใช้มือหรือแขนปัดไม้มวยไปยังเป้าหมายอื่น


๖) การทำให้ล้ม

ในมวยไทยมีหลายแบบ แต่ที่ถูกต้องตามกติกา โดยใช้วิธีการบังเกาะจับ หรือทุ่มด้วยสะโพก



ขอบคุณข้อมูลจากhttp://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=35&chap=3&page=t35-3-infodetail04.html

แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้

คอมเม้น

0 คอมเม้น

กฎการรีวิว

People who love what they do help
you get everything done at an
unbeatable value.

รีวิวโดยทีมงาน RP

What do you do best? Create your
Gig and start selling. It’s free, and
only takes 5 minutes.

ร่วมกิจกรรม

Your safety is our top priority. Secure
transactions and our safety team
protect you at all times.
เข้าสู่
ระบบ
เขียน
รีวิว
รีวิว
อัพเดท
Top 10
รีวิว
TOP
ติดต่อทีมงานเพื่อ
แนะนำรีวิวน่าสนใจ
https://reviewpromote.com/post/167/%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%90%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9d%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b0%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2