“ธีรดา ศิริมงคล”
ด้วยภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทุกชีวิตในเมืองต้องใช้ชีวิตเร่งรีบมากขึ้นเพื่อทำสิ่งต่างๆ ทำให้ปัจจุบันประชาชนแทบทุกคนในเมืองใหญ่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง และแม้กระทั่งดูแลอาหารการกินของตัวเองและคนในครอบครัว หลายคนนั้นจำเป็นต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ปรุงเสร็จแล้วกิน ลดภาระเวลาต่างๆ ซึ่งเหตุนี้เองทำให้ได้สารอาหารที่ไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญในเรื่อง ดังกล่าวจึงจัดกิจกรรม “กินผัก สร้างสุข กับบุคคล ต้นแบบ” ในโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะขึ้น ทางสสส.มอบรางวัลให้กับบุคคลต้นแบบในองค์กรต้นแบบ 6 แห่ง ได้แก่ กลุ่มบริษัท พรีเมียร์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนหันมาใส่ใจอาหารการกินและบริโภคผักให้ได้ตามปริมาณที่เหมาะสม
ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการบริโภคผักผลไม้ที่มีความปลอดภัยอย่างน้อยวันละ 400 กรัม ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตั้งเป้าบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.9 เป็นร้อยละ 50 ในปี 2564 โดยเฉพาะสนับสนุนสถานประกอบการ ให้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมการปลูกผัก การมีตลาดนัดหมุนเวียน หรือจัดเมนูอาหารสุขภาพสำหรับพนักงาน
ทำไมต้องกินผักวันละ 400 กรัม เพราะสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลมีข้อมูลว่า หากกินผักได้วันละ 400 กรัมจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ 30 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 6 เปอร์เซ็นต์ ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 1-6 เปอร์เซ็นต์ ลดเบาหวานความดัน ลดน้ำหนัก ประโยชน์มหาศาล ที่ตามมาจากการกินผักนั้นทำให้ทุกคนต้องเริ่มทบทวนว่าตอนนี้เรากินผักเพียงพอหรือไม่
น.ส. จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ หัวหน้าโครงการสร้างเสริม สุขภาพกลุ่มวัยทำงานด้วยการบริโภคผัก ผลไม้ 400 กรัม กล่าวว่า ได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน 6 แห่ง เข้าร่วมโครงการโดยมีพนักงานสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 777 คน โดยมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความต้องการบริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม แก่พนักงานในแต่ละสำนักงาน โดยให้ทดลองชั่งผัก เพื่อให้รู้จักปริมาณผักที่ควรบริโภคต่อวัน ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของผักแต่ละประเภท รวมถึงวิธีการล้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้าง มีการจัดพื้นที่จำหน่ายผักผลไม้และอาหาร รวมถึงการตรวจวัดระดับสารเคมีจากผักผลไม้ตกค้างในเลือด โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)
นอกจากนี้ มีกิจกรรม 21 วัน มหัศจรรย์ผักผลไม้ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครจากสำนักงานต้นแบบทดลองปฏิบัติภารกิจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้ของตนเองได้ตลอด 21 วัน โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลปริมาณผักผลไม้ในอาหารแต่ละจาน เพื่อให้ผู้เข้า ร่วมกิจกรรมป้อนข้อมูลบันทึกไว้ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงในการบริโภคผักผลไม้ของตนเอง รวมถึงจัดทำไลน์กลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แรงบันดาลใจในการกินผักผลไม้
นอกจากนี้ จัดกิจกรรมอบรมบุคคลต้นแบบ 33 คน เยี่ยมชมการปลูกผักแบบไร้สารเคมี และการย้ายกล้า ผสมดิน ทดลองปลูกผัก เรียนรู้การปรุงอาหารจากผักที่มีตามฤดูกาล การถนอมและแปรรูปผักผลไม้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริโภคผักผลไม้ของตนเอง รวมถึงระดมความคิดในการขยายองค์ความรู้เรื่องการบริโภคผักผลไม้สู่สังคมวงกว้าง อบรมแม่ครัวต้นแบบ ซึ่งเป็นผู้ค้าในโรงอาหารของบริษัทให้เป็นผู้มีความรู้ในการปรุงอาหารเพื่อสุขภาวะด้วย
“สำหรับการจัดกิจกรรมของบริษัทมี 2 ส่วน คือสำนักงานกรุงเทพฯ และพนักงานฝ่ายผลิต ที่โรงงานศรีราชา จัดอบรมให้กับผู้ค้าในโรงอาหาร ซึ่งแม่ค้าที่ไปอบรมก็กลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมเมนูผักมากขึ้น มีโครงการแปลงผักอินทรีย์ ที่มีการสาธิตอบรมการปลูกผักอินทรีย์ ในบริเวณพื้นที่ว่างข้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงได้ต่อยอดในส่วนการจัดตลาดผักผลไม้อินทรีย์ขึ้น โดยเชิญ ชวนชาวสวนที่ปลูกผักแถวคลองจินดามา จำหน่ายเดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง ที่ไลอ้อน กรุงเทพฯ ด้วย” หัวหน้าโครงการกล่าว
กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้คนเมืองหันมาใส่ใจเรื่องการกินผักมากขึ้น และสะดวก สบายขึ้น เพราะไม่ได้พยายามอยู่คนเดียว แต่มีองค์กรที่ตนเองอยู่คอยสนับสนุน เมื่อดูแลตัวเองได้แล้วก็จะกระจายไปสู่การดูแลคนในครอบครัว ดูแลเพื่อนให้หันมากินผักเพื่อสุขภาพที่ดีกันอย่างทั่วถึง
สิ่งที่เราควรคำนึงถึงนอกจากการกินผักนั้นคือ ผักที่เรากินต้องสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย ไม่ว่าจะซื้อผักมาจากที่ใด สิ่งสำคัญคือการล้างผักให้สะอาดที่สุด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสะสมของยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมา ก่อนบริโภคไม่ว่าจะแช่ด้วยน้ำธรรมดา น้ำเกลือ หรือในสารละลายต่างๆ แล้วล้างผักผลไม้ที่แช่แล้วด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง เมื่อกินผักที่สะอาดครบถ้วนตามปริมาณที่เหมาะสมนั้น ก็มั่นใจได้เลยว่าเราจะมีสุขภาพที่ดีแน่นอน
ที่มาเนื้อหา
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้