แตงโม ชื่อสามัญ Watermelon
แตงโม ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum. & Nakai (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Citrullus vulgaris Schrad.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
แตงโม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แตงจีน (ตรัง), บะเต้า (ภาคเหนือ), บักโม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น
แตงโม เป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกาในทะเลทรายคาลาฮารี ซึ่งชาติที่แรกที่ปลูกแตงโมไว้รับประทานนั้นก็คือชาวอียิปต์ (สี่พันกว่าปีมาแล้ว) สำหรับประเทศไทยนั้นการปลูกแตงโมจะมีอยู่ทั่วทุกภาคและปลูกได้ทุกฤดู
โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก ๆ นั่นก็คือ พันธุ์ธรรมดาทั่วไป (เมล็ดมีขนาดเล็ก รสหวาน เช่น แตงโมจินตหรา แตงโมตอร์ปิโด แตงโมกินรี แตงโมน้ำผึ้ง แตงโมไดอานา แตงโมจิ๋ว เป็นต้น) สายพันธุ์ต่อมาก็คือ พันธุ์ไร้เมล็ด (เป็นพันธุ์ผสมผลิตเพื่อส่งออก) และพันธุ์กินเมล็ด (ปลูกเพื่อนำเมล็ดมาคั่วที่เรียกกันว่า “เม็ดกวยจี๋” นั่นแหละ)
แตงโม จัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับแคนตาลูป ฟักทอง แตงกวา ซึ่งนักพฤกษศาสตร์จัดให้อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE เป็นผลไม้ที่มีน้ำประกอบอยู่ในปริมาณมากจึงมีคุณสมบัติเย็น รับประทานแล้วหวานชื่นใจ สำหรับประโยชน์ของแตงโมนั้นก็เช่น ช่วยลดอาการไข้ คอแห้ง รักษาแผลในปาก เป็นต้น และยังเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกด้วย เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด อย่างเช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบีรวม แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่มีกระเพาะ ม้ามไม่แข็งแรง กระเพาะลำไส้อักเสบ หญิงหลังคลอด หลังป่วยหนัก หรือผู้ที่มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย มีอาการท้องร่วงง่าย ไม่ควรรับประทานแตงโม
แตงโม มีสารอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญอย่างมากนั่นก็คือ Citrulline (ซิทรูไลน์) ซึ่งจะพบสารนี้ในเปลือกมากกว่าส่วนของเนื้อ ดังนั้นการรับประทานแตงโมที่มีส่วนเปลือกขาว ๆ ติดมาด้วยก็จะเป็นประโยชน์ที่ดีมากกว่าที่จะกินแต่เนื้อสด ๆ สำหรับประโยชน์ของสารนี้ก็คือ จะช่วยขยายเส้นเลือด ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันและยังเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนอีกด้วย เพราะมีแคลอรีต่ำมาก อย่างไรก็ตามก่อนที่เราจะผ่าแตงโมรับประทาน ควรจะล้างเปลือกให้สะอาดเสียก่อนเพื่อป้องกันสารพิษตกค้างซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะแตงโมเป็นพืชที่ถูกรบกวนได้ง่ายจากแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ชาวสวนจึงนิยมที่จะฉีดยาฆ่าแมลงเป็นปกติ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยว่าในเนื้อและเปลือกของแตงโมมีสารออกฤทธิ์ที่ทำงานคล้ายกับไวอากรา หากบริโภคเข้าไปมาก ๆ สาร Citrulline ในแตงโมจะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ในร่างกายทำให้เกิดกรดอะมิโนอาร์จินีนขึ้นมา ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นทำให้หลอดเลือดคลายตัวและทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้นคล้าย ๆ กับฤทธิ์ของไวอากรา
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญแย้งว่าแม้มันจะมีคุณสมบัติดังกล่าว แต่การที่รับประทานแตงโมเข้าไปมาก ๆ ก็คงช่วยแก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไม่ได้ เพราะน่าจะมีผลแค่ทำให้ร่างกายปัสสาวะบ่อยขึ้นเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาแตงโมจะนำไปใช้เป็นยาขับปัสสาวะมากกว่ายารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และผลเสียที่จะตามมาก็คือ หากรับประทานแตงโมมากเกินไป น้ำตาลในผลแตงโมอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีผลทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้