มะพร้าว ชื่อสามัญ Coconut
มะพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEA
สมุนไพรมะพร้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดุง (จันทบุรี), โพล (กาญจนบุรี), คอส่า (แม่ฮ่องสอน), เอี่ยจี้ (จีน), หมากอุ๋น หมากอูน (ทั่วไป) เป็นต้น
มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่จัดอยู่ในตระกูลปาล์ม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ผลประกอบไปด้วยเปลือกนอก ใยมะพร้าว กะลามะพร้าว และชั้นสุดท้ายคือเนื้อมะพร้าว ซึ่งภายในจะมีน้ำมะพร้าว ถ้าลูกมะพร้าวแก่มาก เนื้อมะพร้าวจะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด
สำหรับสถิติการผลิตมะพร้าวประเทศอินโดนีเซียคืออันดับ 1 ของโลกที่ผลิตมะพร้าวได้มากที่สุด ส่วนประเทศไทยจะอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก และรายชื่อพันธุ์มะพร้าวต่าง ๆ ก็ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวทะเล มะพร้าวไฟ มะพร้าวซอ มะพร้าวกะทิ มะพร้าวพวงร้อย มะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย
มะพร้าวเป็นผลไม้ที่นิยมกันอย่างมากในบ้านเรา คุณสมบัติเด่น ๆ ของมะพร้าวก็คือ ส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ทำเป็นประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารคาวหวานเพื่อบำรุงสุขภาพและรักษาอาการหรือโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำตาล และยังรวมไปถึงการทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ขึ้นมาใช้สอย (มีประโยชน์ชนิดที่ว่าติดเกาะแล้วไม่อดตาย ฮ่า ๆ)
น้ำมะพร้าว ถ้าจะให้ดีควรกินสด ๆ เปิดลูกแล้วควรดื่มเลย ไม่ควรทิ้งไว้หรือเก็บไว้ในตู้เย็นนานเกินครึ่งชั่วโมง หากดื่มทันทีจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด แต่ควรระวังเรื่องสารฟอกขาวไว้ด้วย ซื้อมาจากสวนโดยตรงก็จะดีและปลอดภัยมาก และสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะพร้าว
มะพร้าวกับความเชื่อ มีความเชื่อว่าการปลูกต้นมะพร้าวทางทิศตะวันออกของบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย และยังเป็นมิ่งขวัญสำหรับคนเกิดปีชวดและปีเถาะอีกด้วย ส่วนในพิธีกรรมทางศาสนาจะจัดให้มีเครื่องสังเวยเป็นมะพร้าวอ่อน เพราะเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ การดื่มน้ำมะพร้าวก็เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพอีกด้วย เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้ตายเกิดความผ่องใส สงบจิตใจลงได้ และเดินทางไปยังภพภูมิหน้าได้อย่างเป็นสุข (อ้อ มะพร้าวยิ่งต้นสูงเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งสะอาดมากขึ้นเท่านั้น) (ที่มา : ตำราพรหมชาติฉบับหลวง)
น้ำมันพร้าวกับประจำเดือน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ในขณะที่มีประจำเดือนไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวเป็นอันขาด” แต่ความจริงก็คือน้ำมะพร้าวก็เหมือนน้ำหวานทั่ว ๆ ไป จึงไม่มีผลกระทบต่อการมีประจำเดือนแต่อย่างใด แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางรายที่อาจมีอาการแพ้น้ำมะพร้าวได้ ดังนั้นคุณสามารถดื่มน้ำมะพร้าวแสนโปรดของคุณได้ตามปกติแม้จะมีประจำเดือนก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้เสี่ยงทดลอง เพราะประจำเดือนอาจจะเปลี่ยนสีและหดหายไปได้ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งมดลูกได้ในระยะยาว (แหล่งอ้างอิง : ดาราเดลี่) ประกอบกับตำรายาไทยโบราณบอกว่า “น้ำมะพร้าวแสลงกับหญิงที่กำลังมีประจำเดือน” (ที่มา : “สารานุกรมสมุนไพร” (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), “สมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ” (อุทัย สินธุสาร))
น้ํามะพร้าวกับคนท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า “ดื่มน้ำมะพร้าวมาก ๆ จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีผิวขาว ผิวเกลี้ยง และช่วยล้างไขตามตัว” ความจริงก็คือในน้ำมะพร้าวมีสารอาหารหลากหลายอย่างและกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้สร้างไขที่ตัวเด็กให้มีสีค่อนข้างขาว เลยดูว่าเด็กตัวสะอาด เพราะตามธรรมชาติเด็กทุกคนต้องมีไขมันห่อหุ้มตัวอยู่แล้วแเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิภายนอกและยังช่วยให้เด็กคลอดง่ายขึ้นด้วย (ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง)
สรรพคุณของมะพร้าว
- ประโยชน์น้ำมะพร้าว จะช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง ขาวนวลขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ (น้ำมะพร้าว)
- น้ำมะพร้าวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งทำให้ผิวมีความยืดหยุ่น กระชับ ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
- ประโยชน์ของน้ำมะพร้าว มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
- ในเนื้อและน้ำมันมะพร้าวอ่อนมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินบี กรดอะมิโน ธาตุแคลเซียม ธาตุแมกนีเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุเหล็ก และยังมีไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมได้ภายใน 5 นาที (น้ำมะพร้าว)
- น้ำมะพร้าวมีประโยชน์ใช้เป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย (ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคไต)
- น้ำมะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นจึงช่วยดับร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าว)
- น้ำมะพร้าวอ่อนมีคุณสมบัติเป็นธาตุเย็น ช่วยล้างพิษ ขับพิษของเสียออกจากร่างกาย หรือช่วยดีท็อกซ์นั่นเอง (น้ำมะพร้าว)
- ประโยชน์ของมะพร้าว ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อมะพร้าว)
- ช่วยปรับสมดุลของร่างกายในช่วงที่ร่างกายมีความเป็นกรดสูง เพราะน้ำมะพร้าวมีความเป็นด่าง ทำให้กลไกการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเป็นปกติแส่งผลให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง (น้ำมะพร้าว)
- ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
- ใช้เป็นเครื่องดื่มธรรมชาติที่ให้เกลือแร่ได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับนักกีฬา เนื่องจากอุดมไปด้วยธาตุโพแทสเซียม (น้ำมะพร้าว)
- ช่วยแก้กระหายน้ำ (น้ำมะพร้าว, เนื้อมะพร้าว, ดอก)
- น้ำมะพร้าวลดบวม ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (น้ำมะพร้าว)
- น้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค จึงนำไปใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดแบบผิดปกติ (น้ำมะพร้าว)
- ประโยชน์ของน้ำมะพร้าวอ่อน ช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ภาวะความจำเสื่อมในสตรีวัยทอง เนื่องจากมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและช่วยรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้มะพร้าวแก่ขูดเอาเนื้อมาคั่วให้เหลือง โรยเกลือเล็กน้อย ใส่ภาชนะปิดให้แน่น แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 10 วันจะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลลดลงเรื่อย ๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวปวดศีรษะได้ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- นำมาใช้รักษาโรคคอตีบได้ (เปลือกหุ้มรากของมะพร้าว )
- ช่วยแก้อาการตาอักเสบ ด้วยการใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 1 ถ้วย นำมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงไว้ดื่มเช้าและเย็น อาการอักเสบก็จะค่อย ๆ หายไปเอง (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยแก้อาการระคายเคืองตา ด้วยการใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนสด ๆ แปะที่ดวงตา อาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง (เนื้อมะพร้าว)
- ช่วยลดอาการไข้สูง ตัวร้อน เพราะมีฤทธิ์เป็นยาเย็นจึงช่วยทุเลาอาการไข้ได้ (น้ำมะพร้าวอ่อน, เนื้อมะพร้าว)
- ใช้รักษาคนไข้ที่มีภาวะความเป็นกรดในเลือดสูง (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยแก้ไข้ทับระดู ด้วยการเอาจั่นมะพร้าว ที่ยังมีกาบหุ้มอยู่นำมาต้มน้ำดื่ม เช้า กลางวัน เย็น อาการจะค่อยดีขึ้น (บางคนใช้รากก็ได้ผลเหมือนกัน)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนในช่วงเช้าและช่วงบ่าย (รับประทานเนื้อด้วย)
- ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวห้าว (น้ำมะพร้าวห้าว)
- ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ด้วยการอมน้ำกะทิสด ๆ จากมะพร้าวแก่ประมาณ 5-10 นาที ประมาณ 3 วันแผลจะหายเร็วขึ้น (น้ำกะทิสด)
- ใช้แก้อาการเจ็บฟัน ด้วยการใช้เปลือกต้นสดนำไปเผาไฟให้เป็นเถ้าแล้วนำมาสีฟัน (เปลือกต้นสดมะพร้าว)
- ใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บปากเจ็บคอ (ดอก)
- รากใช้อมบ้วนปากแก้อาการเจ็บคอ (ราก)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ด้วยการใช้มะนาว 1 ซีกบีบผสมกับน้ำมะพร้าวอ่อนแล้วดื่ม (น้ำมะพร้าวอ่อนผสมมะนาว)
- สำหรับผู้ที่อาเจียนและท้องร่วงในเวลาเดียวกันให้ดื่มน้ำมะพร้าว จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสไปใช้ได้เร็ว ทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ (น้ำมะพร้าว)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้กะลามะพร้าวแก่จัดที่มีรู ขูดเอาเนื้อออกใหม่ ๆ ใส่ถ่านไฟแดงลงไป แล้วรองเอาน้ำมันมะพร้าวที่ไหลออกมาเก็บใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด แล้วใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำมันที่ได้อุดรูฟันที่ปวด แต่อย่าให้สัมผัสกับเหงือกหรือเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆโดยตรง เพราะจะทำให้ชาได้ (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ประโยชน์มะพร้าว ช่วยกล่อมเสมหะ (ดอก)
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (น้ำมะพร้าว)
- สรรพคุณน้ำมะพร้าวช่วยรักษาโรคกระเพาะ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ใช้แก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้รากล้างสะอาดประมาณ 3 กำมือ ทุบพอแตก ต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวเอา 2 แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น (ดอก, ราก, กะลา)
- ช่วยแก้โรคบิด ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้น (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยรักษาโรคลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้เปลือกมะพร้าวมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น (ควรใช้เปลือกมะพร้าวห้าวหรือมะพร้าวแก่)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้กะลามะพร้าวสะอาดมาเผาไฟจนแดง แล้วคีบเก็บไว้ในปี๊บสะอาด ปิดฝาให้เรียบร้อย จะได้ถ่านกะลาสีดำ นำมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (กะลา)
ผู้สนับสนุน
- ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียจากอาการท้องเสียท้องร่วงได้ ช่วยเติมพลังหลังการเสียเหงื่อ เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำมะพร้าวอ่อน, เนื้อมะพร้าว, ราก)
- น้ำมะพร้าว สรรพคุณช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยแก้นิ่ว ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้นมาก (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- ช่วยรักษาโรคตับและไต (ยังไม่ยืนยัน)
- ช่วยรักษาโรคดีซ่าน ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน เช้า กลางวัน เย็น เพียง 2 วันอาการก็จะดีขึ้นมาก (น้ำมะพร้าว)
- ใช้ถ่ายพยาธิได้ (น้ำมะพร้าว, เนื้อมะพร้าว)
- ช่วยบำรุงและแก้อาการปวดกระดูกและเอ็น (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อักเสบ ช้ำบวม ด้วยการใช้น้ำกะทิเคี่ยวให้ร้อน แล้วนำผักเสี้ยนผีล้างให้สะอาดสับเคี่ยวเข้าด้วยกัน ใส่เมนทอลเล็กน้อยเพื่อให้มีกลิ่นหอมและช่วยให้ตัวยาแทรกซึมได้ดีขึ้น เสร็จแล้วนำมานวดบริเวณที่มีอาการ (น้ำกะทิเคี่ยว)
- ช่วยแก้อาการเม็ดผดผื่นคันตามตัว ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเป็นประจำ (น้ำมะพร้าวอ่อน)
- สรรพคุณของมะพร้าว สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังได้ (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้นและป้องกันการเกิดแผลเป็น ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากกะลาเผาไฟถ่าน นำมาทาที่แผล จะทำให้แผลหายเร็วภายในไม่กี่วัน และจะไม่เกิดรอยแผลเป็น (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ใช้รักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการเอากะลามะพร้าวมาถูตะไบเอาผง นำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใส่พิมเสนเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณแผลเช้า กลางวัน เย็น
- ใช้ทาแก้ผิวหนังแตกลาย (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ใช้เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ ด้วยการใช้กะลามะพร้าวแก่จัดที่ขูดแล้ว มีรู มาใส่ถ่านไฟแดง ๆ น้ำมันมะพร้าวจะไหลออกมา แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ยางจะติดอยู่ เกลื้อนจะค่อย ๆ หายไป (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- สรรพคุณมะพร้าว ช่วยรักษาเล็บขบ ฝ่ามือแตกลาย ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเผากะลามาทาเช้า กลางวัน เย็น หรือหยอดบริเวณที่เป็นเล็บขบ จะหายเร็วขึ้นและไม่มีอาการปวด (น้ำมันจากกะลามะพร้าว)
- ช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ด้วยการใช้ใบมะพร้าวต้มน้ำดื่ม (ใบมะพร้าว)
- ใช้ทาแก้หิด (เปลือกต้นสดมะพร้าว)
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้มะพร้าวกะทิปิดบริเวณแผล (มะพร้าวกะทิ)
- ในไต้หวันและจีน นิยมดื่มน้ำมะพร้าวเพื่อช่วยลดอาการเมา แก้อาเจียนหลังการดื่มแอลกอฮอล์ (น้ำมะพร้าว)
- ช่วยแก้พิษเบื่อเมา ด้วยการดื่มน้ำมะพร้าวซึ่งจะช่วยล้างพิษที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี (น้ำมะพร้าวอ่อน)
ประโยชน์ของมะพร้าว
- ช่วยกำจัดริ้วรอยของครกหินที่ซื้อมาใหม่ ด้วยการใช้เนื้อมะพร้าวที่ใช้คั้นกะทิตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ 4-5 ชิ้น ใส่ลงไปในครกแล้วตำเนื้อมะพร้าวจนละเอียด ให้น้ำมันจากเนื้อมะพร้าวออกมาสัมผัสกับผิวครกไปเรื่อย ๆ ประมาณสิบนาที แล้วทิ้งไว้อย่างนั้นประมาณ 1 คืนเพื่อให้น้ำมะพร้าวซึมเข้าตามริ้วรอยของเนื้อครก ก้นครกก็จะลื่นเป็นมันดูสดใสใช้งานได้อย่างคล่องมือ (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)
- มารดาที่เพิ่งคลอดบุตรแต่ไม่มีน้ำนมเพียงพอ ก็สามารถให้บุตรกินน้ำมะพร้าวแทนน้ำนมแม่ได้ชั่วคราวได้ เพราะน้ำมะพร้าวมีกรดลอริกที่มีอยู่มากในน้ำนมแม่นั่นเอง แถมยังมีความบริสุทธิ์ไม่มีสารเคมีเจือปน จึงไม่เป็นอันตรายต่อเด็กทารก (น้ำมะพร้าว)
- ผู้ที่เป็นสิวหรือมีประจำเดือนติดต่อกันไม่หยุดให้ดื่มน้ำมะพร้าว จะช่วยทำให้ร่างกายขับของเสียออกมาได้มากยิ่งขึ้น (น้ำมะพร้าว)
- มะพร้าว ประโยชน์ใช้ทำเป็นน้ำส้มสายชูได้ (น้ำมะพร้าว)
- ยอดอ่อนมะพร้าว หรือ “หัวใจมะพร้าว” (Coconut’s heart) ซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนจะทำให้ต้นมะพร้าวตายทั้งต้น (ต้องโค่นกันเลยทีเดียว) โดยนำไปใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัด แกงส้ม แกงคั่ว รวมไปถึงยำยอดอ่อนมะพร้าว หรือ “สลัดเจ้าสัว” (Millionaire’s salad)
- น้ำมะพร้าวนำไปแปรรูปเป็นวุ้นมะพร้าวได้ ด้วยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว (น้ำมะพร้าว)
- มะพร้าวอ่อน นอกจากรับประทานสดแล้ว ยังนำมาทำเป็นวุ้นมะพร้าว มะพร้าวเผา ส่วนประกอบในอาหารคาวหวาน เป็นต้น
- มะพร้าวแก่ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคั้นกะทิสด กะทิกล่อง มะพร้าวอบน้ำผึ้ง น้ำมันมะพร้าว รวมไปถึงน้ำมันไบโอดีเซลด้วย เป็นต้น
- เนื้อในของมะพร้าวแก่ ใช้ทำเป็นกะทิ ด้วยการขูดเนื้อเป็นเศษ ๆ แล้วบีบคั้นเอาน้ำกะทิออก (เนื้อมะพร้าว)
- กากที่เหลือจากการคั้นน้ำกะทิ สามารถนำไปใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย (กากมะพร้าว)
- กาบมะพร้าวหรือเปลือกมะพร้าว คุณสมบัติแข็งแรง คงทน ยืดหยุ่น มีสปริง นำมาใช้ทำเชือก พรม กระสอบ แปรง อวน ไม้กวาด และเส้นใบสั้นใช้อัดไส้ของที่นอน เบาะรถยนต์ เป็นต้น
- ใยมะพร้าวนำไปใช้ยัดฟูกเพื่อทำเป็นเสื่อได้ หรือจะนำไปใช้ในการเกษตรก็ได้เช่นกัน (ใยมะพร้าว)
- จั่นมะพร้าวหรือช่อดอกมะพร้าว อุดมไปด้วยฟรุกโตส ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของผึ้งและแมลงนานาชนิด จึงได้มีการนำน้ำหวานส่วนนี้มาทำเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ปรุงอาหารคาวหวาน หรือทำเป็นน้ำตาลสดไว้เป็นเครื่องดื่มเพิ่มพลังก็ได้
- จาวมะพร้าวนำมาใช้ทำเป็นอาหารได้
- จาวมะพร้าวช่วยกระตุ้นการเจริญเติบของพืชที่ปลูกได้ เพราะมีฮอร์โมนออกซิน ซึ่งเมื่อนำไปคั้นก็จะได้น้ำไว้สำหรับรดต้นพืชที่ปลูก
- ใบมะพร้าวนิยมนำมาใช้สานเป็นภาชนะใส่ของ ห่อขนม สานหมวกกันแดดหรือเครื่องเล่นเด็ก กระจาด กระเช้า ตะกร้า ทำของที่ระลึกรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น
- ก้านใบมะพร้าวหรือทางมะพร้าว นำมาใช้ทำเป็นไม้กวาดทางมะพร้าว เสวียนหม้อหรือก้นหม้อ เครื่องประดับข้างฝา พัด ภาชนะปักดอกไม้ กระเป๋า กระจาด เป็นต้น
- รกมะพร้าวหรือเยื่อหุ้มคอมะพร้าว ลักษณะเป็นแผ่นใยหยาบ ๆ บาง ๆ มีความยืดหยุ่น (แต่ขาดง่าย) นิยมนำมาทำเป็นกระเป๋า หมวก รองเท้าแตะ ดอกไม้ประดิษฐ์ กล่องใส่ของ สิ่งประดิษฐ์ใช้ตกแต่งงานศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น
- กะลามะพร้าวนิยมนำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวย กระดุม ซออู้ โคมไฟ เครื่องประดับ เครื่องดนตรี ที่วางแก้วน้ำ ที่เขี่ยบุหรี่ รวมไปถึงทำเป็นถ่านหุงต้ม ถ่านกัมมันต์ น้ำควัน และถ่านสำหรับป้องกันมอดแมลงก็ได้เช่นกัน และอีกสารพัด (ที่อาจารย์สั่งให้ทำส่งเพื่อแลกกับคะแนน)
- รากมะพร้าวมีเส้นยาว เหนียวเป็นพิเศษ ใช้สานเป็นตะกร้า ถาด ภาชนะต่าง ๆ และสิ่งประดิษฐ์ทั่ว ๆไป
- ลำต้น เมื่อถูกโค่นทิ้งแล้วสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ทำรั้ว ฝาผนัง กระถางต้นไม้ ตกแต่งสวน เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อมะพร้าวต่อ 100กรัม
- พลังงาน 1,480 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 24.23 กรัม
- น้ำตาล 6.23 กรัม
- เส้นใย 9 กรัม
- ไขมัน 33.49 กรัม
- โปรตีน 3.33 กรัม
- วิตามินบี 1 0.66 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.54 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินบี 5 1.014 มิลลิกรัม 20%
- วิตามินบี 6 0.05 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินซี 3.3 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 2.43 มิลลิกรัม 19%
- ธาตุแมกนีเซียม 32 มิลลิกรัม 9%
- ธาตุฟอสฟอรัส 113 มิลลิกรัม 16%
- ธาตุโพแทสเซียม 356 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุสังกะสี 1.1 มิลลิกรัม 12%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมะพร้าวต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 79 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 3.71 กรัม
- น้ำตาล 2.61 กรัม
- เส้นใย 1.1 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- โปรตีน 0.72 กรัม
- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 2 0.057 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 3 0.08 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 6 0.032 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 2.4 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแคลเซียม 24 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.29 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 250 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), กูรู สนุก, ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานเครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย, www.GotoKnow, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)