การหลับนอน วัยทารกเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และสติปัญญา การส่งเสริมให้ทารกนอนหลับสนิทตลอดคืน จึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณค่าอย่างยิ่งค่ะ เมื่อเจ้าตัวน้อยอายุได้ 4 เดือน พ่อแม่ควรเริ่มฝึกได้แล้วค่ะ เพราะหากไม่เริ่มฝึกกัน ตั้งแต่เล็ก พ่อแม่อาจประสบปัญหาลูกน้อยนอนหลับ ไม่เป็นเวลา นั่นคือ ลูกมักตื่นบ่อยในตอนกลางคืน หรือบางรายกลางคืนอาจไม่ยอมนอน แต่ไปนอนในช่วงเช้า หรือกลางวันแทน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านรู้สึกกังวล หรือบางรายอาจรู้สึกหงุดหงิด เพราะต้องอดหลับอดนอนไปด้วย นับเป็นเรื่องที่มักได้ยินกันอยู่ บ่อยๆ
คุณหมอแนะนำว่า การสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ทารก เป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยได้นอนหลับอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ด้วยกลยุทธ์ในการสร้างนิสัยการนอนที่ดีให้ทารก ที่อยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นำไปทดลองปฏิบัติดู มีดังนี้ค่ะ
ขั้นแรก เริ่มจากการสร้าง ความคุ้นเคย ต่อสถานที่นอนให้ลูกก่อนค่ะ โดยสอนให้ลูกรู้จักเปล หรือที่นอน และห้องนอนของตัวเอง เพื่อให้ลูกได้รู้ หรือสัมผัสได้ว่า เมื่อถูกวางลงบนที่นอน เมื่อไร แสดงว่า ได้เวลาที่จะต้องนอนแล้ว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาที่ห้องนอนของลูก และวางลูกบนที่นอน เมื่อถึงเวลาจะให้ลูกนอน
ขั้นที่ 2 คุณพ่อคุณแม่ ควรวางลูกบนที่นอนของลูกเอง ก่อนที่ลูกจะหลับ (ในขณะที่เขายังตื่นอยู่) เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับที่นอน และสถานที่ เพื่อให้เกิดความคิดเชื่อมโยง เมื่อตื่นขึ้นใน ตอนเช้า เพราะถ้าหากอุ้มลูกไว้จนกระทั่งหลับไป แล้วจึงวางลูกนอนบนที่นอน เมื่อตื่นขึ้นมา ลูกอาจตกใจร้องไห้ได้ ถ้าไม่เห็นคุณพ่อคุณแม่อุ้มไว้
ขั้นที่ 3 ควรแนะนำให้ลูกรู้จักความแตกต่างของกลางวัน และกลางคืน โดยในช่วงกลางวัน คุณควรให้ลูกมีระยะเวลาในการนอนน้อยกว่าในตอน กลางคืน ขณะลูกนอนในตอนกลางวัน ควรให้ลูกนอนในห้องที่มีแสงสว่าง พอเพียง ไม่ควรให้นอนในห้องที่มืด เพื่อป้องกันมิให้ลูกรู้สึกสับสนว่า เป็นกลางคืน
ขั้นที่ 4 ควรฝึกนิสัยให้ลูกได้นอน ตลอดจนรับประทานอาหาร (ดูดนม) ในเวลาที่แน่นอน เป็นประจำ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างเวลา และกิจกรรมที่ปฏิบัติ
ขั้นที่ 5 ช่วงเวลาก่อนเข้านอน ควรลดกิจกรรมการเล่นของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมการเล่นที่ต้องมีการเคลื่อนไหว และการเล่นที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ
ขั้นที่ 6 ควรห่มผ้าให้ลูกด้วยผ้าห่มประจำตัวของลูกเอง หรือวางของเล่นที่ลูกชอบ คุ้นเคย
หรือเล่นเป็นประจำไว้ข้างๆ ลูก เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และไว้วางใจมากขึ้น
ขั้นที่ 7 ถ้าหากลูกตื่น และร้องไห้กลางดึก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบเปิดไฟ หรืออุ้มลูกขึ้นมา แต่ควรยืนสังเกตดูห่างๆ ถ้าลูกยังร้องไม่หยุด ให้คุณเข้าไปปลอบ และสังเกตดูว่ามีความผิดปกติอะไร หรือไม่ ยังไม่ต้องอุ้มลูกขึ้นมา เพื่อให้ลูกน้อยรู้ว่า เป็นเวลาของการนอน กลยุทธ์ข้อนี้คุณต้องสังเกต และค้นหาด้วยว่า ลูกร้องไห้ เพราะอะไร ถ้าลูกร้องไห้เพราะเปียก แฉะ หรือปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่ ต้องรีบจัดการแก้ปัญหาให้ก่อน
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสร้างนิสัยความเคยชินให้ลูกน้อย ด้วยการให้ลูกดูด จุกนมเทียม เพราะเมื่อลูกเกิดความเคยชินที่จะต้องดูดจุกนมเทียมทุกครั้งที่นอนแล้ว เมื่อลูกตื่นขึ้น และพบว่า จุกนมหลุดออกจากปาก อาจร้องหาจุกนมนั้นได้
กลยุทธ์ทั้ง 7 นี้ หากคุณพ่อคุณแม่นำไปปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกน้อยเรียนรู้แบบแผนการนอน ที่เหมาะสม และโอกาสที่ลูกจะตื่นขึ้นมารบกวนกลางดึกก็จะไม่เกิดขึ้น อีกต่อไป
คุณหมอแอบกระซิบส่งท้ายด้วยนะคะว่า ขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งปฏิบัติได้เร็ว ก็ยิ่งได้ผลดี โดยอายุที่นับว่า เหมาะสม ในการฝึกนิสัยการนอนหลับ คือ อายุ 4 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้เพราะแบบแผนการนอนของลูกในช่วงนี้ มีการพัฒนามากขึ้น มีแบบแผนที่ชัดเจน สม่ำเสมอมากขึ้นค่ะ
ขอขอบคุณ นิตยสารบันทึกคุณแม่
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้