เมื่อคุณแม่มือใหม่เห็นลูกน้อยกินนมได้ ดูดนมเก่ง ก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งเวลาที่ให้นมลูก แต่พอหลังจากลูกกินนมอิ่มแล้วเกิดอาการสะอึก ทำให้คุณแม่ตกใจและกังวลว่าลูกน้อยจะเป็นอะไรหรือเปล่าอาการสะอึกของเด็กทารกเป็นเพราะสาเหตุอะไร เมื่อทารกสะอึกอันตรายหรือไม่ ทำอย่างไรเมื่อลูกสะอึก หากคุณแม่รู้คำตอบจะทำให้เข้าใจและรับมือกับอาการลูกสะอึกได้
อาการสะอึกเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงทารกด้วย สำหรับในวัยผู้ใหญ่หรือเด็กโตเมื่อเกิดอาการสะอึกทิ้งไว้ซักพักอาการสะอึกจะหายไปเอง ในวัยทารกอาการสะอึกมักพบหลังจากลูกอิ่มนม เนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัวจากการที่นมเข้าไปอยู่ทำให้เกิดแรงดันไปที่กล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอด และช่องท้องเกิดเป็นเสียงของกล้ามเนื้อกะบังลมหดตัวอย่างรวดเร็วขณะหายใจออกจึงทำให้ลูกสะอึกได้
อาการสะอึกของเด็กทารกเป็นเรื่องปกติเมื่อเด็กสะอึกไปซักพักจะหยุดเอง ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อทารกเริ่มโตขึ้นถึงอายุประมาณ4-5 เดือน อาการสะอึกของเด็กทารกจะค่อยๆ หายไป ไม่เกิดขึ้นบ่อยแล้ว
หลังลูกดูดนมอิ่มแล้ว คุณแม่ควรทำให้ทารกเรอเพื่อไล่ลมออกทุกครั้ง ด้วยการตบหลังเบาๆ อย่างอ่อนโยน หรือวนมือเป็นวงกลมบริเวณท้องก็ช่วยทำให้ลูกเรอได้
อุ้มลูกโดยให้ส่วนหัวพักอยู่บนไหล่ของคุณแล้วลูบหลัง หรืออุ้มลูกพาดบ่า โดยให้ลูกตัวตั้ง แล้วพาเดินไปเดินมา เพื่อเป็นการช่วยให้น้ำนมไหลออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วขึ้น
ให้ลูกนั่งตัวตรงบนตัก แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับประคองคางลูกไว้ ให้ลูกเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มือลูบขึ้นเบาๆ ช้าๆ จากบริเวณด้านหลังเอวขึ้นมาจนถึงต้นคอลูก เพื่อทำการไล่ลมขึ้นมา
ให้ลูกดูดนมแม่แก้อาการสะอึก โดยไม่ต้องกินน้ำ ส่วนในกรณีที่ลูกกินนมผง เมื่อลูกสะอึกให้ลูกกิน นมจากขวด หรือภาชนะอื่นๆ จะช่วยทำให้อาการสะอึกหยุดเร็วขึ้น
หากอาการสะอึกของลูกยังไม่หายเป็นชั่วโมง หรือสะอึกแล้วมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาลูกพบแพทย์ทันที
โดยปกติแล้วเด็กทารกเกือบทุกคนจะมีอาการสะอึกหลังกินนมอิ่มทุกครั้ง การสะอึกจึงเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับทารกแรกเกิด เพียงคุณแม่เข้าใจก็จะทำให้คุณแม่คลายกังวล มองลูกดูดนมให้อิ่มอย่างมีความสุขและเลี้ยงลูกน้อยได้อย่างสบายใจ
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้