พัฒนาการของลูกน้อย
ลูกน้อยเริ่มเล่นเก่งขึ้น เด็กบางคนอาจมีแววซน แสดงออกมาให้คุณแม่เตรียมพร้อมรับมือ ลูกน้อยหัวเราะคิกคักได้เก่งมากขึ้น บางครั้งลูกวัยนี้ ก็เหมือนมีโลกส่วนตัว คือ จะ สนใจมอง หรือเล่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อาจจะเป็นของเล่น มือ นิ้วมือ นิ้วเท้าของตัวเอง เป็นเพราะลูกกำลังเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นคนละส่วนกับสิ่งแวดล้อม
พัฒนาการด้านร่างกาย
- ควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆได้ดียิ่งขึ้น กล้ามเนื้อคอ หลัง แข็งแรง ศีรษะตั้งตรงได้อย่างดี
- สามารถนั่งได้ถ้ามีอะไรหนุนหลัง บางคนนางได้นานกว่า 30 นาที และขณะที่นั่งก็คว้าของเล่นได้
- ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ในการจับคล่องขึ้น
- ใช้มือถือของได้ทั้งมือเดียวและสองมือ
- ถือของเล่นแล้วเขย่าให้เกิดเสียงได้ทั้งสองมือ และชอบหยิบของเข้าปากเพื่อลองชิม
- มือกับสายตาทำงานประสานกันได้ดี
- พัฒนาการด้านสังคม
- แยกแยะพ่อแม่ ผู้ใหญ่ใกล้ชิด กับคนแปลกหน้าคนอื่น ๆได้
- แยกความแตกต่างระหว่างตัวจริง กับเงาในกระจกได้
- รู้จักยกแขน บอกว่าอยากให้อุ้มได้
- ชอบส่งเสียงตามเมื่อได้ยินเสียงพูด หรือมองตามปากที่คนอื่นพูด เป็นการเรียนรู้ภาษา
- แสดงออกด้านอารมณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกังวล โกรธ หรือแสดงอาการต่อต้านเมื่อถูกขัดใจหรือโดนแย่งของเล่นจากมือไป
การกระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่น
- จัดให้ลูกหัดคว่ำและคลาน
- วางของเล่นสีสดใสไว้ใกล้รัศมีเอื้อมของลูกเพื่อให้ลูกหัดคืบไปหยิบ
- ทำกระพรวนมาผูกที่เท้า เพื่อกระตุ้นให้ลูกถีบขามากขึ้น
- พูดกับลูกบ่อยๆ และช้า ๆ เพื่อให้ลูกได้สังเกตรมฝีปาก
- หัดให้ลูกจำแนกเสียงต่างๆ โดยสอนเรียกชื่อ
คุณรู้หรือไม่?
เมื่อคุณแม่ป้อนอาหารตามวัยให้กับลูกวัย 6 เดือน ลูกมักจะชอบแย่งช้อนตักกินเอง เพราะเด็กวัยนี้สนใจการฝึกฝนใช้นิ้วมือหยิบจับ (กล้ามเนื้อมัดเล็ก) นอกจากนี้ลูกอาจจะเอาเข้าปาก เลีย ชิม กัด ได้ เพราะฟันซีแรกของลูกกำลังขึ้น เหงือกจึงเจ็บๆคันๆ คุณแม่หาผัก ผลไม้ เช่น ชิ้นฝรั่ง ชมพู่ หรือแตงกวา ให้ลูกถือเพื่อกัด หรืออม จะได้มีกิจกรรมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก