พัฒนาการด้านร่างกายลูกวัย 6 เดือน
- พลิกคว่ำได้คล่อง เริ่มคืบไปข้างหน้า หรือข้างหลังได้บ้าง
- นั่งทรงตัวได้ดีขึ้น นานขึ้น แต่ยังต้องมีอะไรพยุงหลังไว้บ้าง เพราะหน้าอาจคะมำได้ง่ายๆ
- สามารถถือขวดนมได้เอง จับของเล่น และเปลี่ยนของจากมือข้างหนึ่งมาอีกข้างหนึ่งได้ง่ายๆ
- ส่งเสียงได้หลายระดับเสียง เริ่มออกเสียงที่มีพยัญชนะ
- คว้าได้แม่นยำ แล้วปล่อยให้ตกลงไป
- เวลานอนหงายชอบหยิบจับเท้ามาเล่น เอาเท้าขึ้นมาอม
- บางคนอาจจะเริ่มมีฟันขึ้นมา หรือมีอาการคันเหงือก
พัฒนาการด้านสังคม
- เลียนแบบท่าทาง หรือสีหน้าของคนใกล้ชิด
- แยกว่าคนไหนเป็นผู้ใหญ่ คนไหนคือเด็กได้
- ส่งเสียงร้องเมื่อต้องการความช่วยเหลือ แต่เป็นการส่งเสียงแบบมีความหมาย
- ชอบเล่นกับคนอื่นๆ มากขึ้น
- ชอบเอื้อมมือไปจับหน้าเด็กคนอื่นๆ
การกระตุ้นพัฒนาการผ่านการเล่น
- ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ให้ลูกเลียนเสียง
- ชูมือหรือของเล่น เพื่อให้ลูกได้เอื้อมมือคว้า
- หายางกัดเล่นให้ลูกเพื่อบรรเทาอาการคันเหงือก
- จับอุ้มนั่งเล่นบนตัก บนพื้น หรือในอ่างที่เด็กจับขอบอ่างได้
- ให้เล่นของเล่นที่มีความลึก เช่น ถ้วย กล่อง นำมาซ้อนกัน
- กลิ้งลูกบอลลูกเล็ก ๆ ให้มองตามและเอื้อมไปหยิบ
- เล่นจั๊กจี้เบาๆ กับลูกดูสิ แม่กับลูกจะได้หัวเราะสนุกสนานร่วมกัน คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพราะจะเป็นการฝึกพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้เป็นอย่างดี
การเรียนรู้
คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้แม้ว่าลูกจะยังพูดโต้ตอบไม่ได้ คุณแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ส่งยิ้มให้ลูกจะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น เมื่อถึงมื้ออาหารก็เปิดโอกาสให้ลูกได้ทานเองเพื่อฝึกการใช้มือและนิ้ว ลูกน้อยจะสนุกกับการทานอาหาร เวลาอาบน้ำจะยิ่งเป็นเวลาสนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูก เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกายอาจทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น เช่น การตีน้ำในอ่างดังจ๋อมแจ๋ม
การให้นมทารก
เมื่อลูกถึงวัยนี้ คุณควรเริ่มคิดถึงการให้อาหารอื่นๆแก่ลูกนอกเหนือจากการให้นม (ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ควรเริ่มให้อาหารตามวัยเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน) การฝึกให้ลูกกินอาหารตามวัย จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อในปากของลูกซึ่งมีผลต่อการพูด รวมทั้งทำให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติอาหารแบบใหม่ๆด้วย