กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของพระอารามสำคัญหลายวัด ส่วนใหญ่นั้นมีฐานะเป็นพระอารามหลวง มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ วัดเหล่านั้นจึงสร้างขึ้นอย่างวิจิตร อลังการ งามสง่าสมพระเกียรติผู้ให้สร้าง เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก
วัดสำคัญในกรุงเทพฯ ล้วนเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เข้าชมได้ทุกวัน แต่ไม่ใช่กับวัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล ฐานะของวัดเป็นถึงชนิดราชวรวิหาร มีอาคารสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ทว่าเลือกที่จะไม่เปิดให้เข้าชมได้อย่างสะดวกง่ายดายเฉกเช่นที่อื่น
ที่วัดแห่งนี้ โดยประมาณใน 1 เดือน จะเปิดให้เข้าชมภายในอาคารสำคัญแค่ 4 วัน
ฉะนั้น ใน 1 ปี จะมีวันให้นักท่องเที่ยวได้ยลความงามที่แน่นอนเพียง 48 วัน เท่านั้น!
พระอารามอันหลีกเร้นจากนักท่องเที่ยว แต่อุดมด้วยศิลปกรรมชั้นเลิศแห่งนี้ มีนามว่า...
วัดโสมนัสวิหาร
วัดโสมนัสวิหาร หรือวัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร สังกัดธรรมยุติกนิกาย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้น เพื่อเป็นพระราชอุทิศแด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ประสูติเมื่อปีพ.ศ.2377 เมื่อพระชนมายุได้ 6 เดือน พระชนกก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพระอัยกา (ปู่) จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระองค์เป็นพระราชนัดดาที่โปรดยิ่ง ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าหลานเธอ อีกทั้งพระอัยกายังได้ทรงสร้างพระอารามพระราชทาน นามว่า วัดราชนัดดาราม
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์เข้ารับราชการฝ่ายใน และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกในรัชกาล พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้นในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2395
เมื่อถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2395 พระองค์ก็ทรงพระประชวรหนัก มีพระประสูติกาลพระราชโอรสหลังทรงพระครรภ์ได้ 7 เดือน พระราชโอรสพระองค์นั้นได้รับการถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าโสมนัส ตามพระนามของพระมารดา น่าเศร้าที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นมีพระชนม์อยู่เพียง 3 ชั่วโมงก็สิ้นพระชนม์
หลังจากนั้น พระอาการประชวรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรุดหนักตามลำดับ ถึงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2395 ก็สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาลัยยิ่ง เพราะสมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้สิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ภายหลังการพระราชพิธีพระศพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งในสมเด็จพระนางเจ้าฯ มาสร้างพระอารามแห่งใหม่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคลองที่ขุดขึ้นใหม่ในสมัยนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2396 พระราชทานนามว่า วัดโสมนัสวิหาร ตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ นั่นเอง
ในช่วงปลายรัชกาล ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งใหม่ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก มีนามเรียกในปัจจุบันว่า วัดมกุฎกษัตริยาราม เป็นวัดของพระองค์เอง ตั้งอยู่คู่กับวัดโสมนัสวิหารของสมเด็จพระอัครมเหสี
ปัจจุบันนี้ ยังคงมีงานศิลปกรรมบางส่วนที่ชวนให้ระลึกว่า วัดโสมนัสวิหาร คือ พระบรมราชานุสรณ์แห่งความรัก ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อย่างแรกคือ ลวดลายหน้าบัน ของพระอุโบสถและพระวิหารหลวง ประดับตราพระราชสัญลักษณ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ นั่นคือ รูปหัวใจ ตั้งอยู่บนพาน รูปหัวใจนั้นสื่อถึง ความสุขใจ ปิติ เบิกบาน ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า โสมนัส ในพระนามนั่นเอง เหนือรูปหัวใจเป็นรูป พระมหามงกุฎ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๔ ครอบอยู่ด้านบน
เป็นการนำพระราชสัญลักษณ์ของทั้งสองพระองค์มาจัดองค์ประกอบรวมกันอย่างสวยงาม และได้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของวัดในปัจจุบัน
อย่างที่สอง คือ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ หากเดินไปที่ด้านหลังพระวิหาร จะเห็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องประดิษฐานคู่กัน 2 องค์ องค์ซ้ายเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 4 ส่วนองค์ขวาเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
ในอดีตนั้น ยังไม่มีการสร้างรูปปั้นรูปเหมือนบุคคล แต่จะมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของบุคคลนั้น ๆ
เราจึงกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปซึ่งเป็นตัวแทนของทั้งสองพระองค์นั้น ได้ประทับอยู่เคียงกันในพระอารามแห่งนี้ มาเป็นเวลากว่า 160 ปีแล้ว...
อาคารประธานของวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งอย่างโดดเด่นเป็นสง่าที่หน้าวัด นั่นคือ พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวงมีขนาด 7 ห้อง มีเสาพาไลล้อมรอบอาคารเหมือนอย่างงานสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เสานั้นเป็นเสากลมแบบศิลปะตะวันตก ดูคล้ายเสาในศิลปะกรีก-โรมัน
บานประตูและหน้าต่างพระวิหาร ด้านนอกเขียนลายรดน้ำเป็นภาพ สมบัติ 7 ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ ประกอบด้วย จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว
บานประตูกลางของพระวิหาร ด้านในวาดภาพม่านแหวก มีอุบาสก และอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาว นั่งประนมมือถือดอกไม้บูชาพระ
บานประตูพระวิหารหลวงบานอื่น ๆ วาดภาพทหารแต่งเครื่องแบบถือปืน ทำหน้าที่เป็นทวารบาล ต่างจากในอดีตที่จะวาดเทวดา ยักษ์ หรือเซี่ยวกาง
ด้านหลังบานหน้าต่างพระวิหารหลวง วาดภาพม่านแหวก โดยด้านล่างวาดโต๊ะหมู่ตั้งแจกันดอกไม้ ด้านบนวาดพวงดอกไม้ห้อยลงมา ซึ่งลงรายละเอียดได้ดีมาก
อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น ในยามปกติ บานประตูและหน้าต่างของพระวิหารหลวงทั้งหมดถูกปิดไว้เกือบตลอดเวลา
ใน 1 เดือน มี 4 วัน ที่จะเปิดออกให้เราได้เห็นองค์พระประธานสีทองเรืองรองอยู่ด้านใน
พระวิหารหลวง จะเปิดทุกวันธรรมสวนะ หรือวันพระ ได้แก่วันแรม/ขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม/ขึ้น 15 ค่ำ เป็นสถานที่สำหรับสวดมนต์และฟังธรรมของพุทธศาสนิกชน ฉะนั้นเมื่อเข้าไปจะพบเบาะรองนั่งและเก้าอี้ตั้งอยู่ มีอุบาสกและอุบาสิการอเข้าร่วมพิธีอยู่หลายคน
พระประธานในพระวิหารประดิษฐานบนบุษบกขนาดใหญ่ มีนามว่า พระสัมพุทธโสมนัสวัฒนาวดีนาถบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม่ปรากฏพระอุษณีษะ และทำจีวรเป็นริ้วผ้าอย่างธรรมชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 หลังองค์พระมีจารึกอักษรขอมเป็นบทสวดสรรเสริญพุทธคุณ
เบื้องหน้าประดิษฐานรูปหล่อพระอัครสาวก คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ทั้งหมดหล่อขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะอัญเชิญมาประดิษฐานที่นี่
ในพระวิหารมีเสาขนาดใหญ่ 12 ต้น แบ่งฝั่งซ้ายและขวาองค์พระ 6 ต้นเท่ากัน บนเสานั้นมีการลงสีที่แตกต่างกันออกไป เสาใกล้พระประธานจะใช้สีโทนสว่าง และค่อย ๆ มืดลง เสาที่ไกลที่สุดนั้นลงสีเข้มสนิท เป็นปริศนาธรรมที่เปรียบกับจิตใจของมนุษย์ที่มีดี และชั่วต่างกัน
แต่การลงสีอาจจะยังสื่อความหมายได้ไม่ดีพอ ที่นี่จึงได้วาดภาพลงในกรอบเล็ก ๆ บนเสา ชุดภาพนี้เรียกว่า ฉฬาภิชาติ หรือบุคคล 6 กลุ่มที่มีความดี-ชั่วต่างกัน โดยแต่ละภาพจะสอดคล้องกับสีและตำแหน่งของเสา
น่าสังเกตว่า เสาต้นสุดท้ายของทั้ง 2 ฝั่ง อันหมายถึงกลุ่มบุคคลที่ชั่วที่สุด เป็นภาพของคนคริสต์ และคนมุสลิม สาเหตุที่วาดภาพคนเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน อาจเป็นการดูถูกคนต่างศาสนาในอดีต หรือจะสื่อว่าคนต่างศาสนานั้นไม่จัดเข้ากับกลุ่มใดเพราะไม่ใช่คนพุทธ ก็คงต้องค้นคว้ากันต่อไป
ด้วยพระวิหารหลวงนั้นเป็นอาคารขนาดใหญ่ จึงมีพื้นที่ผนังมาก ช่างได้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มพื้นที่อย่างอลังการ ที่นี่ไม่ได้วาดภาพจิตรกรรมเหมือนวัดทั่ว ๆ ไป แต่วาดเนื้อหาที่แปลกใหม่ และบางส่วนยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
ผนังเหนือประตูด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ ได้แก่ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธ พระโกนาคมน พระกัสสป และพระโคตมะ มีคติตำนานกล่าวว่าพระอดีตพุทธเจ้า 6 พระองค์แรกนั้นได้บันดาลให้ฉัพพรรณรังสี บังเกิดแก่พระโคตมพุทธเจ้า คติพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ยังพบที่วัดชุมพลนิกายาราม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
ผนังเหนือประตูและหน้าต่างด้านที่เหลือ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าวาดเรื่องราวอะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวกับ พระเจ้าจักรพรรดิ เพราะนอกจากจะสอดคล้องกับภาพสมบัติ 7 ประการที่บานประตูหน้าต่างแล้ว ยังปรากฏภาพของปราสาทราชวัง การศึกสงคราม ยุทธหัตถี พระราชพิธีต่าง ๆ รวมถึงกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เหล่านี้สะท้อนถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้ทรงเป็นประมุข ผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ในราชอาณาจักร
ความพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารหลวงวัดโสมนัสวิหารอยู่ที่ผนังระหว่างหน้าต่าง ด้วยเรื่องราวที่วาดนั้นคือหนึ่งในวรรณกรรมที่คนไทยรู้จักกันดี คือเรื่อง อิเหนา
อิเหนา ฉบับที่รู้จักกันแพร่หลายคือฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 บุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องเกิดขึ้นที่ดินแดนชวา หรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน ชื่อต่าง ๆ จึงฟังแล้วแปลกหู เนื้อเรื่องมีความซับซ้อนและให้อารมณ์ที่หลากหลาย
ทำไมอิเหนาถึงมาอยู่บนผนังพระวิหารหลวงวัดโสมนัส ? มีการวิเคราะห์หลากหลายแนวทาง บ้างว่าอาจเป็นเพราะความสนพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 4 ที่มีต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากบางตอนคล้ายกับพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (อ้างอิงจากบทความเรื่อง วิเคราะห์แนวคิดของรัชกาลที่ 4 ที่สะท้อนผ่านจิตรกรรม เรื่อง “อิเหนา” ในพระวิหารหลวง วัดโสมนัสวิหาร ของ จุฑารัตน์ จิตโสภา) หรือว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องโปรดของสมเด็จพระนางเจ้าฯ หรือเป็นความนิยมในสมัยนั้น ที่นิยมนำเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกับศาสนามาวาดในวัด อย่างเช่นภาพจิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัย ที่วัดปทุมวนาราม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภาพจิตรกรรมเรื่อง อิเหนา ที่วัดโสมนัสวิหารแห่งนี้ ถือว่าวาดเนื้อหาครบสมบูรณ์มาก เริ่มตั้งแต่ตอนแรกถึงตอนสุดท้ายโดยไม่พลาดฉากสำคัญ ทั้งฉากรบกับท้าวกะหมังกุหนิง บุษบาเสี่ยงเทียน อิเหนาเผาเมือง ลมหอบนางบุษบา ฯลฯ ใครที่เคยอ่านเรื่องอิเหนาแล้วอยากเห็นภาพประกอบ ให้มาดูได้ที่นี่
จิตรกรได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิต ภาพคนเชื้อชาติต่าง ๆ และภาพสิ่งแวดล้อมในสมัยนั้นให้ได้ดูกันด้วย ที่นี่ทำให้เราทราบด้วยว่า คนไทยรู้จัก จิงโจ้ ในสมัยรัชกาลที่ 4
ในวันธรรมสวนะ จะมีการสวดมนต์และฟังพระธรรมเทศนา 3 ช่วงเวลาด้วยกัน บทสวดมนต์ของวัดโสมนัสวิหารกล่าวกันว่ามีความไพเราะยิ่ง บทภาษาไทยบางบทนั้นเป็นสำนวนที่แปลโดย สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด
(รายละเอียดเรื่องเวลาประกอบพิธีอยู่ด้านล่าง)
เดินชมในพระวิหารเสร็จแล้ว ออกไปที่ประตูด้านหลัง จะเห็น พระเจดีย์ทรงกลม มีความสูง 55 เมตร (หรือความสูงประมาณตึก 18 ชั้น!) ปิดกระเบื้องโมเสคสีทองทั้งองค์ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
ด้านทิศเหนือและใต้ของพระเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส 2 รูป ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต)
พระระเบียง สร้างล้อมรอบองค์พระเจดีย์ มีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานเรียงกันไป ใช้เป็นสถานที่สำหรับเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือเดินเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
นอกพระระเบียงด้านทิศใต้ มีเจดีย์อีกองค์หนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตกุฏิคณะ 2 เจดีย์องค์นี้ลักษณะแปลกออกไป ด้วยยอดนั้นโค้งมน ไม่ใช่ยอดแหลมแบบเจดีย์ไทย คนส่วนมากเรียกะเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์มอญ
ถึงแม้ชื่อจะเป็นมอญ แต่รูปทรงนั้นจำลองมาจาก ธัมเมกขสถูป เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ หนึ่งในสังเวชนียสถานสำคัญที่ชาวพุทธทั่วโลกเดินทางไปแสวงบุญ
ในกรุงเทพฯ ยังมีอีกวัดที่มีเจดีย์ลักษณะนี้ คือ วัดกันมาตุยาราม ย่านถนนเยาวราช สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นเดียวกัน
หากไม่สะดวกไปถึงพาราณสี ก็สามารถสักการะธัมเมกขสถูปจำลองได้ ที่วัดโสมนัสวิหารแห่งนี้ ...
ศาสนสถานแห่งสุดท้ายที่จะขอพาไปชม ตั้งอยู่หลังวัดติดกับเขตฌาปนสถานกองทัพบก นั่นคือ พระอุโบสถ ลักษณะอาคารนั้นมีขนาดเล็กกว่าพระวิหารหลวงมาก เสาพาไลเป็นเสาทรงสี่เหลี่ยม ต่างจากพระวิหารหลวงที่เป็นเสากลม
ช่อฟ้าและหางหงส์ ทำเป็นรูปปั้นพญานาคประดับกระเบื้อง
บานประตูและบานหน้าต่างพระอุโบสถ เขียนลายรดน้ำเรื่องสมบัติ 7 ประการของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนพระวิหารหลวง แต่ด้านในวาดภาพต่างกันออกไป
ด้านหลังบานประตูหน้าพระอุโบสถวาดภาพ เนื้อสัตว์ 10 ชนิดที่พระภิกษุห้ามฉัน ประกอบด้วย มนุษย์ สิงโต ม้า ช้าง สุนัข แมว หมี เสือเหลือง เสือโคร่ง และงู
ด้านหลังบานหน้าต่างวาดภาพ ผลไม้ 8 ชนิดที่ใช้ทำน้ำอัฏฐบาน หรือน้ำปานะ ประกอบด้วย กล้วยไม่มีเม็ด กล้วยมีเม็ด มะม่วง ชมพู่กับหว้า ลูกจันทน์หรือลูกองุ่น มะทราง มะปรางกับลิ้นจี่ และเหง้าบัว
ที่บานแฉลบหรือผนังข้างหน้าต่าง วาดภาพต้นไม้แต่ละชนิด ตรงกับภาพของผลจากต้นนั้น ๆ
พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า พระสัมพุทธสิริ เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) ได้หล่อขึ้น โดยมีขนาดเท่ากับรูปท่าน
องค์พระประดิษฐานในบุษบกเช่นเดียวกับในพระวิหารหลวง เพียงแต่มีสัดส่วนเล็กกว่าเท่านั้น โต๊ะหมู่ด้านหน้าประดิษฐาน พระนิรันตรายจำลอง ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นแล้วพระราชทานแก่วัดในนิกายธรรมยุต
ในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพุทธประวัติ วาดแบบคร่าว ๆ มีเฉพาะเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น
ผนังตรงข้ามพระประธาน ตอนบนนั้นวาดภาพวัดโสมนัสวิหาร...
ที่อ่านนั้นไม่ผิด เพราะเป็นภาพของวัดโสมนัสวิหารจริง ๆ มีอาคารสำคัญครบทั้งประตูทางเข้า พระวิหารหลวง พระเจดีย์ พระระเบียง มีศาลาท่าน้ำริมคลองผดุงกรุงเกษม มองเห็นคนกำลังทำบุญที่วัด ภาพนี้ทำให้เราทราบได้ว่าวัดโสมนัสวิหารในอดีตนั้นมีสภาพอย่างไร
ส่วนตอนล่างวาดภาพงานเผาศพ มีทั้งเมรุ และมหรสพเล่นหน้าเมรุ ตรงนี้ก็ทำให้เห็นภาพบรรยากาศงานศพสมัยก่อนได้
ผนังแป หรือผนังเหนือหน้าต่างทั้ง 2 ด้าน วาดภาพ ธุดงควัตร หรือกิจวัตรที่มุ่งสู่การกำจัดกิเลส เป็นวัตรปฏิบัติที่เข้มข้น ทำได้ยาก เช่น ฉันอาหารมื้อเดียว ครองผ้าได้แค่ 3 ผืน ไม่นอนซ้ำที่เดิม พักอยู่ในป่าช้า เป็นต้น
ผนังระหว่างหน้าต่างก็น่าสนใจ ด้วยวาดภาพที่แปลกและอาจทำให้รู้สยดสยองนิดหน่อย นั่นคือภาพ อสุภกรรมฐาน หรือการพิจารณาซากศพ 10 ประเภท เพื่อกำจัดความหลงใหลในร่างกายและสิ่งสวยงาม การวาดภาพอสุภกรรมฐานตามวัดมีอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4
ภาพอสุภกรรมฐานของวัดโสมนัสวิหาร ได้นำไปใช้เป็นภาพประกอบของโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา (The Farewell Flower) ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับกรรมฐานประเภทนี้ด้วย
มีอยู่ภาพหนึ่ง พระภิกษุที่นั่งพิจารณาซากศพอยู่นั้น มีรูปร่างคล้ายกับสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เป็นอย่างมาก จึงสันนิษฐานว่าเป็นภาพเหมือนของท่าน เนื่องจากท่านเป็นพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน และอาจรวมถึงอสุภกรรมฐานนี้ด้วย
ก่อนเดินทางกลับ เชิญสักการะ พระโพธิ์ศรีนาค ได้ที่ศาลาหอสมุดข้างพระอุโบสถ
ประวัติของพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์นี้ เล่าว่าถูกพบในลำคลองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วจึงอัญเชิญมาที่วัดโสมนัสวิหาร นำไปประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ พระระเบียง และศาลาหอสมุดตามลำดับ
เชื่อกันว่าหากใครมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้จะได้รับความโชคดี ชาวต่างชาติจึงเรียกกันว่า The Lucky Buddha
วัดโสมนัสวิหาร เป็นวัดที่อุดมด้วยงานศิลปกรรมชั้นเลิศแทบทุกตารางเมตร ทั้งงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม แม้การมาเข้าชมจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากวันและเวลา แต่ถ้าหากได้มาก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาเที่ยวชมและศึกษาธรรมไปพร้อม
ศึกษาธรรมนั้น นอกจากพิธีสวดมนต์และฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เรายังศึกษาได้จากจิตรกรรมของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉฬาภิชาติ ธุดงควัตร อสุภกรรมฐาน หรือแม้แต่เรื่องอิเหนา ก็ทำให้เห็นถึงปัญหาและความวุ่นวายของชีวิต
ที่สำคัญ การมาเยือนที่นี่ ทำให้เราได้ทราบถึงความรักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อสมเด็จพระอัครมเหสีของพระองค์ ผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ ในงานศิลปะ ที่มีความหมายอย่างลึกซึ้ง
ลองหาเวลามาเยี่ยมชมสักครั้ง สิ่งที่ได้รับกลับไป คุ้มค่าไม่น้อยเลยทีเดียว...
ปล. วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดนางเลิ้ง ไหว้พระเสร็จแล้ว สามารถเดินไป ชม ชิม ช๊อป ต่อได้เลย!
-----
วัดโสมนัสราชวรวิหาร
646 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ในวัดมีลานจอดรถ แต่จะมีรถจอดประจำ แนะนำให้เดินทางมาด้วยรถโดยสารสาธารณะ
พระวิหาร
เปิดให้เข้าชมทุกวันธรรมสวนะ ได้แก่ วันแรม/ขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม/ขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งยึดตามปฏิทินปักคณนาของธรรมยุติกนิกาย สามารถตรวจสอบได้ที่ http://www.ปฏิทินปักขคณนา.com/
โดยประตูพระวิหารหลวงจะเปิดตั้งแต่เวลา 07.00 - 16.00 น.
โดยจะมีพิธีกรรม 3 ช่วงเวลา คือ 09.00 - 10.30 น. / 12.00 - 12.30 น. / 15.00 - 15.30 น. เป็นการสวดมนต์และฟังพระธรรมเทศนา ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโดยแต่งกายสุภาพ ผู้ชายและผู้หญิงจะนั่งแยกกันโดยมีฉากกั้น หนังสือสวดมนต์จะอยู่ในชั้นวางบริเวณประตู สามารถสอบถามเรื่องการปฏิบัติจากแม่ชีหรือผู้มาร่วมพิธีท่านอื่น ๆ ได้
ขณะประกอบพิธี ควรงดการส่งเสียงดัง และเดินไปมาภายในพระวิหารหลวง เนื่องจากจะรบกวนผู้อื่น ฉะนั้นหากต้องการถ่ายภาพให้มาในช่วงไม่มีพิธีจะดีที่สุด
พระอุโบสถ
เปิดทุกวัน เฉพาะเวลา 08.00 - 08.30 น.และ 17.00 - 17.30 น. สำหรับพระภิกษุทำวัตรเช้า-เย็น คนทั่วไปสามารถเข้าสวดมนต์ได้ โดยเข้าไปหลังจากสิ้นเสียงระฆังบอกเวลา และควรออกจากพระอุโบสถก่อนพระภิกษุ หากต้องการถ่ายภาพด้านใน ให้ติดต่อกับพระผู้ดูแล(รูปที่ตีระฆัง)
สามาถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจ วัดโสมนัสราชวรวิหาร
-----
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็ปไซต์ วัดโสมนัสวิหาร
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้