ณ ปัจจุบันนี้ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนาม วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวงสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ อาทิ พระพุทธชินสีห์ พระสุวรรณเขต พระศรีศาสดา ฯลฯ อีกทั้งการตกแต่งสถาปัตยกรรมก็งดงามวิจิตร ผสมผสานทั้งศิลปะไทย จีน และตะวันตกได้อย่างลงตัว
เขตสังฆาวาสของวัดบวรนิเวศวิหาร ก็มีความสวยงามไม่ต่างจากเขตพุทธาวาส ด้วยเป็นที่ตั้งของหมู่พระตำหนักที่ประทับ สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ทั้งพระตำหนักเพ็ชร พระตำหนักจันทร์ พระตำหนักใหญ่ พระปั้นหย่า ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่สิ่งที่จะนำพาไปชมในครั้งนี้...
ถัดเข้าไปจนถึงช่วงรอยต่อระหว่างเขตสังฆาวาส และโรงเรียนวัดบวรนิเวศ จะเป็นลานจอดรถขนาดย่อม ด้านหนึ่งของลานเป็นที่ตั้งของกลุ่มศาสนสถานในวัดรังษีสุทธาวาส ที่ปัจจุบันรวมเข้าด้วยกันกับวัดบวรฯ
ส่วนอีกด้านหนึ่ง จะมองเห็นอาคารศิลปะแบบตะวันตก แลดูคล้ายกับโบสถ์ฝรั่ง หน้าบันมีอักษรระบุชื่ออาคารไว้อย่างชัดเจน...
พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร
อาคารมนุษยนาควิทยาทาน
อาคารมนุษยนาควิทยาทาน สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2466 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.2464 ในการนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 10,000 บาท รวมกับทรัพย์ที่ศิษยานุศิษย์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ร่วมกันบริจาค เป็นทุนในการสร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมา โดยมีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงนครราชสีมาเป็นผู้อำนวยการดำเนินงาน
เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น อาคารหลังนี้ได้รับพระราชทานนามว่า มนุษยนาควิทยาทาน คำว่า มนุษยนาค มาจากพระนามเดิมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นั่นคือ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ รวมกับคำว่า วิทยาทาน แล้ว จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอาคาร ที่ใช้เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดบวรนิเวศ สืบเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งมีการปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงเจริญพระชันษาครบ 8 รอบ ในปีพ.ศ.2552
อาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ซึ่งถือกำเนิดในทวีปยุโรปและมักใช้กับอาคารจำพวกศาสนสถาน ปราสาท หรือสถานที่สำคัญ เอกลักษณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอกคือ การทำซุ้มโค้งยอดแหลม การประดับ Rose Window หรือหน้าต่างกลมประดับกระจกสีเหนือประตูทางเข้า และยังมีการสร้างหอสูงเลียนแบบหอระฆังในโบสถ์คริสต์ขนาบกับมุขทางเข้าด้วย
เมื่อก้าวเข้ามาในอาคารจะพบกับห้องโถง เปิดโล่งเห็นเพดานสัน และระเบียงทางเดินชั้นสอง ด้านบนจะเห็นซุ้มประดิษฐานพระรูปหล่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ส่วนด้านล่างเป็นโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระรูปหล่อครึ่งพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงผนวช
ในห้องนี้มีเก้าอี้ยาวตั้งเป็นแถว ๆ ให้อารมณ์เหมือนอยู่ในโบสถ์คริสต์อีกเช่นกัน สามารถเข้ามานั่งพักผ่อนได้
รอบห้องโถง จัดแสดงพระสาทิสลักษณ์ และจอนำเสนอพระประวัติของอดีตสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 19 พระองค์
และยังมีสิ่งของอันเกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
จากห้องโถง หันหน้าไปทางประตู ให้เดินขึ้นบันไดทางขวาเพื่อเข้าชมนิทรรศการในชั้นที่ 2 โดยเส้นทางจะเดินทางเดียว จากปีกขวาวนมาที่ปีกซ้ายและลงบันไดอีกด้านหนึ่ง มีลูกศรนำทางติดอยู่ที่พื้น
ห้องนิทรรศการแบ่งเป็น 6 ห้อง ตามจำนวนอดีตเจ้าอาวาสของวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้
ห้องที่ 1 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จมาประทับและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2379 - 2394 (14 ปี) ขณะยังทรงผนวช มีพระนามฉายาว่า วชิรญาณภิกขุ ซึ่งภายหลังเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดแห่งนี้อยู่เสมอ
ภายในห้องที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตรขณะทรงเป็นเจ้าอาวาส ที่น่าสนใจคือเครื่องบริขาร จดหมายลายพระหัตถ์ และอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์จริง ๆ นำมาให้ชมอย่างใกล้ชิด
ห้องที่ 2 : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2394 - 2435 (42 ปี) ทรงเป็นผู้ริเริ่มวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ในธรรมยุติกนิกายในหลายด้านด้วยกัน อีกทั้งยังมีพระอัจฉริยภาพทั้งด้านภาษา และดาราศาสตร์
ภายในห้องนี้จัดแสดงภาพพระสาทิสลักษณ์ พัดยศสมณศักดิ์ รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ อาทิ ฉลองพระเนตร(แว่นตา) ต้นฉบับสมุดพระนิพนธ์ เป็นต้น
ห้องที่ 3 : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2435 - 2464 (29 ปี) ทรงเป็นผู้นำการปฏิรูปพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ในสยาม จัดระบบการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น พระราชกรณียกิจดังกล่าวทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็น ดวงประทีปแก้วแห่งคณะสงฆ์ไทย
นอกจากการจัดแสดงบริขาร และเอกสารอันเกี่ยวเนื่องกับพระราโชบาย ณ ขณะนั้นแล้ว ยังมีของส่วนพระองค์ เช่น สมุด ปากกา ลูกคิด และอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ ที่สะท้อนถึงความสนพระหฤทัย และพระจริยวัตรอันเรียบง่ายของพระองค์
สิ้นสุด 3 ห้องทางปีกขวา เดินย้อนกลับมาตรงกลาง ก็จะสามารถมองห้องโถงที่เข้ามาในตอนแรกได้อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ที่ห้องกลางชั้นสอง จัดแสดงภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 5-7 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อคราวทรงผนวช และติดตั้งจอแสดงข้อมูลสถานที่สำคัญในวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ด้านหน้ากระจกสีที่สะท้อนแสงออกมาสวยงาม
ทางด้านปีกขวา ก็จะประกอบด้วยห้องนิทรรศการอีก 3 ห้องเช่นกัน
ห้องที่ 4 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระราชปนัดดาในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2464 - 2501 (37 ปี) พระกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการอุปสมบทกรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกทั้งยังเป็นผู้ถวายพระนามแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 9 อีกด้วย (ไม่รวมทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี)
ความพิเศษของห้องจัดแสดงนี้ก็คือ เครื่องราชูปโภค ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงใช้ระหว่างทรงผนวช และวีดีทัศน์การพระราชพิธีทรงผนวช
ห้องที่ 5 : พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2501 - 2504 (4 ปี) ท่านเป็นพระอาจารย์ผู้ถวายการสอนธรรมแก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในช่วงที่ทรงผนวช และท่านยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของไทยเป็นองค์แรกอีกด้วย
ภายในห้องจัดแสดงการจำลองบริขารเครื่องใช้ของท่าน และภาพถ่ายกรณียกิจสำคัญต่าง ๆ
ห้องที่ 6 : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่ปีพ.ศ.2504 - 2556 (52 ปี) ทรงเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งทางพระพุทธศาสนา ด้วยทรงส่งเสริม เผยแผ่ และสร้างความสัมพันธ์อันดีทางศาสนาไปยังต่างประเทศ ทรงโปรดให้สร้างอาคารเพื่อสาธารณประโยชน์หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และทรงพระนิพนธ์ตำรา พระธรรมเทศนา และบทความอันเป็นคติธรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งพระกรณียกิจดังกล่าวทำให้การประชุมสุดยอดพุทธศาสนิกแห่งโลกครั้งที่ 5 เมื่อปีพ.ศ.2555 ได้มีการถวายตำแหน่ง ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา แก่พระองค์
ห้องนี้จัดแสดงบริขาร และของใช้ส่วนพระองค์เช่นเดียวกับห้องอื่น ๆ โดยที่ผนังจะติดความตอนหนึ่งจากพระธรรมเทศนา ให้ผู้เข้ามาเที่ยวชมได้พิจารณาและนำกลับไปใช้ในชีวิต
แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้ขนาดใหญ่มากนัก ไม่ได้มีการจัดแสดงที่ทันสมัยหรือมีน่าดึงดูดใจเท่ากับที่อื่น ๆ แต่ด้วยความสวยงาม บรรยากาศของอาคาร และเรื่องราวอันทรงคุณค่าที่เล่าผ่านโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง ก็ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความพิเศษมากแล้ว
ใครที่เดินทางมาไหว้พระที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วมีเวลาเหลือ ลองเดินมาแวะชมอาคารทรงคุณค่าหลังนี้ ถือเป็นการเติมเต็มจุดประสงค์ของอาคาร นั่นคือ การเป็นสถานที่ให้ความรู้ เพื่ออุทิศถวายแด่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์นั้นนั่นเอง...
-----
อาคารมนุษยนาควิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหาร 248 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชม วันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 15.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม
โทร. 089 441 0488
-----
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้