หากปักหมุดที่เสาชิงช้าจุดหนึ่ง และที่ Siam Paragon อีกจุดหนึ่ง แล้วลากเส้นจากสถานที่ทั้งสองเข้าหากันมาตามแนวถนนพระรามที่ 1 จะพบว่าจุดบรรจบอยู่ที่ระยะทางเท่ากัน ประมาณ 2 กิโลเมตร ณ ตำแหน่งเชิงสะพานกษัตริย์ศึก
และหากขึ้นไปทางทิศเหนือเล็กน้อย จะเป็นจุดตัดระหว่างเส้นทางรถไฟ และคลองแสนแสบ ณ มุมของจุดตัดนั้น มีวัดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเงียบสงบมาเป็นเวลากว่าร้อยปี
วัดบรมนิวาส
แม้จะมีฐานะเป็นพระอารามหลวง แต่กลับเป็นวัดที่มีทางเข้าออกทางเดียว ในซอยแคบ ๆ ที่รถยนต์แทบจะสวนกันไม่ได้ แต่เมื่อเข้ามาถึงแล้วกลับได้บรรยากาศเสมือนย้อนยุคกลับสู่อดีต เมื่อได้เห็นเสนาสนะและอาคารต่าง ๆ ทั้งพระอุโบสถ พระเจดีย์ที่งามอย่างไทย และกุฏิพระที่สร้างเป็นอาคารอย่างตะวันตก
วัดบรมนิวาส มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว โดยกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายวัดที่บรรพบุรุษของตนสร้างไว้ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็น พระวชิรญาณภิกขุ เมื่อทรงรับแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำการสถาปนาใหม่ทั้งวัด เริ่มในปีพ.ศ.2377 ในระยะนั้นเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดนอก เนื่องจากตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง คู่กับ วัดใน กระทั่งเมื่อมีการบูรณะวัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามใหม่เป็น วัดบรมนิวาส หมายถึง วัดที่เป็นที่อยู่อันเป็นเลิศ ซึ่งความหมายไปสอดคล้องกับนามของวัดใน หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งแปลว่า วัดที่เป็นที่อยู่อันประเสริฐ
ขณะที่วัดบวรนิเวศเป็นพระอารามหลวงอยู่ในเมือง ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ วัดบรมนิวาสที่อยู่นอกเมืองในยุคนั้นก็มีบรรยากาศเป็นวัดป่าอันเงียบสงัด เน้นการศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญหลายท่าน เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เคยพำนักจำพรรษาที่วัดแห่งนี้
อาคารในเขตพุทธาวาสหันหน้าสู่ทิศเหนือซึ่งมีคลองแสนแสบไหลผ่าน ผังของเขตพุทธาวาสเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ที่ฟื้นฟูการวางผังวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยากลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระเจดีย์ตั้งเป็นประธาน และสร้างอาคารไว้ด้านหน้า
พระอุโบสถ เป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมสืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูน ทำเสาพาไลรอบอาคาร ประดับเครื่องบนอย่างไทย ลวดลายซุ้มประตูหน้าต่างอย่างเทศ หน้าบันปรากฏ ตราพระมหามงกุฎ อันเป็นพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สถาปนาวัด
รายละเอียดของพระอุโบสถบางส่วนมีการนำศิลปะอยุธยากลับมาใช้ ได้แก่ ฐานอาคารที่แอ่นโค้งแบบตกท้องช้าง และใบเสมาที่มีรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย
ปกติแล้ว พระอุโบสถจะปิดไว้ตลอดเวลา ยกเว้นช่วงพิธีการสำคัญเท่านั้น ใครที่จะมาเข้าชมต้องติดต่อกับสำนักงานวัดให้เปิดพระอุโบสถ
ทันที่บานประตูไม้ปิดทองประดับกระจกถูกแง้มออก ผนังด้านในที่ตกแต่งด้วยโทนสีเข้มเกือบมืดขับให้องค์พระประธานโดดเด่นเป็นลำดับแรก
พระประธานในพระอุโบสถมีนามว่า พระทศพลญาณ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก เบื้องหน้าองค์พระประดิษฐานรูปหล่อพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตรยืนประนมมือสักการะ สังเกตได้ว่าหล่อให้มีลักษณะเหมือนคนจริง ๆ ส่วนด้านหลังตั้งรูปเทวดาเชิญฉัตร เขียนใบหน้าและแต่งเครื่องทรงอย่างไทยประเพณี
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส อาจเรียกได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของจิตรกรรมไทย ที่นำศิลปะการวาดภาพแบบตะวันตก ทั้งหลักทัศนวิทยา แสงเงา มิติ มาประยุกต์ใช้กับงานจิตรกรรมไทยอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งการเล่าเรื่องนั้นก็ถือว่าแปลกใหม่ ไม่ใช่การเล่าเรื่องพุทธประวัติหรือชาดกตามขนบที่ยึดถือมา
ผู้รังสรรค์ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ เป็นศิลปินที่ครองสมณเพศ แต่มีแนวคิดและกลวิธีที่ทันสมัย เป็นผู้บุกเบิกการวาดจิตรกรรมไทยแบบใหม่ นามของท่านที่ทุกคนรู้จักกันคือ ขรัวอินโข่ง นั่นเอง
การเล่าเรื่องผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง มองเผิน ๆ ก็จะเห็นภาพบุคคลและอาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก กำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ แท้ที่จริงแล้ว ภาพเหล่านี้คือ ภาพปริศนาธรรม มีเนื้อสรรเสริญพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยเปรียบเทียบทั้งสามนี้กับสิ่งต่าง ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น กล่าวกันว่าเรื่องปริศนาธรรมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น โดยนำปรัชญาจากดินแดนตะวันตกเข้ามาประยุกต์ ให้พระพุทธศาสนามีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ภาพปริศนาธรรมในพระอุโบสถวัดบรมนิวาสมีทั้งหมด 12 ภาพ แต่ละภาพมีคำบรรยายจารึกอธิบายไว้ แต่หากต้องการศึกษารายละเอียดเชิงลึกของแต่ละภาพ แนะนำให้ศึกษาจากหนังสือ ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง ของสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส จะทำให้ได้อรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลการวิเคราะห์ภาพต่าง ๆ ที่กล่าวในรีวิว อ้างอิงจากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
ตัวอย่างภาพที่น่าสนใจ ได้แก่
ภาพนายสารถี ผู้ฝึกม้า
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง นายสารถี ผู้ฝึกม้า พระธรรมเป็นดั่ง วิธีฝึกม้า และพระสงฆ์เป็นดั่ง ม้าที่ได้รับการฝึกดีแล้ว สื่อถึงพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีอุบายในการแสดงพระธรรมเทศนา และการสั่งสอนให้บุคคลทั้งหลายเข้าถึงหลักธรรม
ในภาพแสดงรูปกลุ่มทหารกำลังขี่ม้า ปรากฏภาพธงชาติเนเธอร์แลนด์ และสถานที่ในฉากหลังที่คาดว่าเป็น Hyde Park ในกรุงลอนดอน
ภาพศัลยแพทย์
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง หมอผู้รู้ชำนาญในวิธีรักษา พระธรรมเป็นดั่ง ยาบำบัดโรค และพระสงฆ์เป็นดั่ง ผู้ป่วยที่หายจากโรค สื่อถึงพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รักษาโรค คือ ราคะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งปวง ด้วยพระธรรมของพระองค์ ให้คนทั้งหลายเกิดปัญญา ได้เข้าถึงพระนิพพาน
ภาพเทพยดาผู้มีฤทธิ์
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง เทพยดาผู้มีฤทธิ์ พระธรรมเป็นดั่ง แสงสว่าง และพระสงฆ์เป็นดั่ง เทวดาบริวาร สื่อถึงพระพุทธเจ้าเป็นผู้มอบทางสว่าง หรือทางหลุดพ้นจากวัฏสงสารแก่แก่สัตว์ทั้งหลาย โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติและสืบทอดหลักธรรมคำสอน
ในภาพแสดงสถานที่คล้ายกับแถบตะวันออกกลาง มีอูฐ มีคนแต่งกายด้วยชุดคลุมยาว มีผ้าโพกหัว เหนือขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นเทวดาเหาะมาพร้อมกับแสงสว่าง ที่น่าสนใจคือ เทวดาและเมฆบนท้องฟ้า แปรอักษรเป็นพระนามย่อ ทญ. ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต้องลองสังเกตดี ๆ ในแนวตะแคง
ภาพผู้ชี้ทาง
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง ผู้ชี้ทาง พระธรรมเป็นดั่ง เส้นทางสู่ดินแดนอันสุขเกษม และพระสงฆ์เป็นดั่ง ผู้เดินทางไปถึงดินแดนนั้น สื่อถึงพระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้แก่ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ในบทสรรเสริญพระพุทธคุณ ท่อนที่ว่า
"...ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย..."
สิ่งที่น่าสนใจในภาพนี้คือสถานที่และบุคคลที่ปรากฏ อาคารแบบตะวันตกยอดโดมนั้น มีภาพถ่ายเก่ายืนยันชัดเจนว่าเป็นภาพของอาคาร United States Capitol หรืออาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งในภาพเป็นยอดโดมดั้งเดิมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในปีค.ศ.1855
ขณะที่บุคคลในภาพ ที่ยืนชี้ทางอยู่หน้าอนุสาวรีย์นั้น แต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร อาจเป็นไปได้ว่าบุคคลในภาพคือ George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นเสมือนผู้ชี้ทางสู่ความเจริญและมั่นคงของประเทศ
ภาพเรือสำเภา
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง นายสำเภา พระธรรมเป็นดั่ง เรือใหญ่ และพระสงฆ์เป็นดั่ง ผู้เดินทางไปถึงฝั่งดินแดนอันสำราญ สื่อถึงพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประกาศพระศาสนาและหลักธรรมให้สัตว์ทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม เพื่อจะได้เข้าถึงพระนิพพาน
ในภาพนี้แสดงถึงกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการเดินเรือกลไฟ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ การล่าวาฬ โดยทั้งท้องฟ้า เมฆ และคลื่นน้ำวาดอย่างสมจริง
ภาพดอกบัว
เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่ง ดอกบัว พระธรรมเป็นดั่ง กลิ่นหอมของดอกบัว และพระสงฆ์เป็นดั่ง หมู่ผึ้งและแมลงที่เข้าไปตอมเกสรดอกบัว สื่อถึงพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง เหมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ พระสงฆ์หรือใครก็ตามที่ได้เข้าไปศึกษาหลักธรรมก็มีโอกาสบรรลุมรรคผลเช่นเดียวกัน
ในระหว่างการชมภาพปริศนาธรรมทั้ง 12 ภาพ จะพบสิ่งที่แทรกอยู่ในตอนบนสุดของผนัง นั่นคือ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งหมดนี้วาดตามลักษณะของดาวดวงนั้นจริง ๆ อย่างเช่นดาวพฤหัสบดีมีแถบขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ พร้อมกับดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง หรือดาวเสาร์ ที่วาดแถบวงแหวนไว้อย่างชัดเจน
นี่คือความแปลกใหม่ในงานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ที่นำความรู้ด้านดาราศาสตร์จากตะวันตกมาสร้างเป็นงานศิลปะ โดยยังไม่ละทิ้งขนบเดิม ดังที่เราเห็นภาพเทวดาเหาะอยู่ข้างกับดวงดาวต่าง ๆ
ผนังระหว่างหน้าต่างวาดภาพ สังฆกรรม หรือกิจของสงฆ์ พิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา ที่บานแผละ หรือผนังส่วนที่บานประตูหน้าต่างเมื่อเปิดเข้าไปแล้วแปะอยู่ วาดภาพวิมาน และอสุภกรรมฐาน หรือการพิจารณาซากศพประเภทต่าง ๆ
เพดานวาดลวดลายพรรณพฤกษาแบบตะวันตก หลังบานประตูวาดภาพทวารบาลแบบจีน ส่วนหลังบานหน้าต่างวาดโต๊ะเครื่องมงคล
กล่าวได้ว่าจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส คือจุดบรรจบระหว่างศิลปกรรมไทยประเพณี และศิลปวิทยาการใหม่จากโลกตะวันตกที่ผสมผสานกัน เกิดเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของงานจิตรกรรมไทยที่มีลักษณะเป็นสากลมากยิ่งขึ้น และได้ถ่ายทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน
จากพระอุโบสถ เดินไปด้านหลังก็จะพบกับพระเจดีย์ทรงกลมสีขาว พระเจดีย์ลักษณะนี้ก็เป็นพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 เช่นเดียวกัน
พระระเบียงรอบพระเจดีย์นั้นมีความน่าสนใจมาก ภายในไม่ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งเรียงกันเหมือนที่อื่น ๆ เพราะที่นี่กลับสร้างประติมากรรมนูน รูปพระอสีติมหาสาวก หรือพระสาวกจำนวน 80 องค์ ยืนประนมมือเรียงเป็นแถว มีจารึกชื่อของพระสาวกใต้รูปของแต่ละองค์
ลักษณะประติมากรรมเช่นนี้ อาจมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ฉะนั้นจึงควรที่จะมาชมสักครั้ง
เสนาสนะอื่น ๆ นอกเขตพุทธาวาส นอกจากกุฏิสงฆ์โบราณจำนวนหลายหลังแล้ว ยังมีอีกอาคารหนึ่ง ที่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารประกอบพิธีกรรมหลัก รวมถึงการสวดมนต์ทำวัตรด้วย อาคารนั้นคือ ศาลาอุรุพงศ์
ศาลาหลังนี้ เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้สร้างขึ้นสำหรับเป็นศาลาการเปรียญของวัด นามของศาลามาจากพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง 15 ปี
ภายในศาลาประดิษฐาน พระพิชิตมารมัธยมพุทธกาล พระพุทธรูปโบราณที่อัญเชิญมาจากวัดหลุมดิน ราชบุรี
แม้พื้นที่ของวัดบรมนิวาสจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่รายละเอียดทางศิลปกรรมนั้นมีมหาศาล รวมถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์และสิ่งที่สะท้อนออกมา หากจะพินิจโดยละเอียด ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว
ฉะนั้น ในวันพระใหญ่ หรือวันหยุดครั้งต่อไป ลองมาย้อนอดีตสู่กรุงลอนดอน และวอชิงตัน ดี.ซี. ในบรรยากาศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มาแหงนหน้ามองดูดวงดาวในระบบสุริยะของเรา มาเรียนรู้ พิจารณา และตีความหลักธรรมที่ซ่อนอยู่ในภาพเขียนสีฝุ่นแบบตะวันตก ที่วาดตกแต่งไว้บนผนังพระอุโบสถของวัดบรมนิวาสแห่งนี้...
-----
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เลขที่ 2 ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
รถยนต์สามารถเข้าได้ทางเดียว คือ ถนนพระรามที่ 6 ซอย 15 ออกทางซอยวัดบรมนิวาส เชิงสะพานข้ามทางรถไฟ ในวัดมีที่จอดรถค่อนข้างน้อย ควรเดินทางมาด้วยรถโดยสารสาธารณะ
พระอุโบสถ ปกติจะปิดไว้ สามารถติดต่อขอเข้าชมได้ที่ สำนักงานวัดบรมนิวาส ตรงข้ามศาลาอุรุพงศ์ โดยจะมีพระวิทยากรเป็นผู้นำชม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ เพจ วัดบรมนิวาส Wat Boromniwas หรือเบอร์โทรศัพท์ 02 214 0708 และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระอุโบสถจะเปิดใช้ประกอบพิธีกรรมในช่วงกลางคืน
-----
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
วิไลรัตน์ ยังรอต และธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559.
แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้